พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแด่พสกนิกรไทยมากกว่า 25 ปี  ซึ่งวัตถุประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน  ก็เพื่อนำพาประชาชนซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่านให้มีการใช้ชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน สามารถอยู่อย่างมีความสุขภายใต้กระแสทุนนิยมและวัตถุนิยม ที่ครอบคลุมโลกและประเทศไทยของเราอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน  หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นจะฟื้นฟูความสมดุลในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไทยให้กลับคืนมา  ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการที่ผู้คนในสังคมไทยใช้ชีวิตตามกระแสที่ครอบงำตามแนวคิดทฤษฎีของตะวันตก ที่มีบริบทสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่แตกต่างกับประเทศของเราโดยสิ้นเชิง  จึงทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับมา  ส่งผลให้แม้แต่สังคมในชุมชนตำบลหมู่บ้านของไทยในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปอย่างมากจนบางแห่งเกือบไม่หลงเหลือรากเหง้าดั้งเดิมของความเป็นไทย  และสิ่งที่พบเห็นชัดเจนคือผู้คนในสังคมไทยของเรามีลักษณะบริโภคนิยมวัตถุนิยมและ “เห็นแก่ตัว” มากขึ้น  ซึ่งความเห็นแก่ตัวดังกล่าวคือเชื้อร้ายของสังคม ที่นำมาซึ่งวิกฤตในทุกด้านของสังคม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทุกด้านของสังคม  ก็ล้วนเกิดจากปัญหาของการเห็นแก่ตัวที่มากขึ้นของผู้คนในสังคมทั้งสิ้น
             ดังที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตร  มีการปลูกพืชเพื่อกินเพื่อใช้ในครอบครัวดังคำกล่าวที่ว่าผู้คนจะ “ปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก”  และในด้านสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นพื้นฐานของทุกสังคม  จะพบว่าครอบครัวคนไทยในอดีตจะมีลักษณะครอบครัวใหญ่ซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่ลูกพี่น้องและญาติผู้ใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น   และพบอยู่เสมอว่าผู้คนในหมู่บ้านเกือบทุกหมู่บ้านแม้ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องตามสายเลือดแต่ก็ยังนับกันเป็นญาติ  โดยมีการเรียกกันเป็น พ่อ  แม่ ลุง ป้า น้า อา พี่ น้องกันทั้งหมู่บ้าน  จุดเด่นอีกอย่างของสังคมในอดีตของเราคือการให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ “ระบบอาวุโส” ผู้อาวุโสของแต่ละครอบครัวและของหมู่บ้านจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทุกคนให้การนับถือและให้เกียรติอย่างมาก  และระบบอาวุโสนี่เองที่จะคอยทำหน้าที่สืบทอดสิ่งที่ถูกต้องดีงามและระบบคุณธรรมของสังคม ทำให้สังคมไทยในอดีตอยู่ด้วยกันอย่างสุขสงบตลอดมา  และสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสังคมไทยในอดีตและสังคมของตะวันตก  คือการแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน ในอดีตผู้คนในชุมชนตำบลหมู่บ้านของเราจะพบเห็นทั่วไปว่าจะมีการช่วยเหลือเจือจานแบ่งกันกินแบ่งกันใช้แบบพี่แบบน้อง  คนที่แข็งแรงและมีโอกาสมากกว่าจะช่วยเหลือดูแลผู้ที่อ่อนแอและด้อยโอกาสกว่า  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งนี้คือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้คนไทยในอดีตแตกต่างอย่างมากจากคนในสังคมตะวันตก  การแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรผู้ด้อยโอกาสหรืออ่อนแอกว่าของผู้คนในอดีต  จะพบว่าผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นมิได้มุ่งหวังอะไรเป็นการตอบแทน  นอกจากสิ่งที่เชื่อกันตามหลักในพุทธศาสนาของเราว่าเป็น “บุญ”    การแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรในอดีตจึงเป็นการกระทำให้แก่กันด้วยความจริงใจ  ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่หากช่วยเหลือแก่ใครมักจะหวังสิ่งผลตอบแทนด้วยเสมอ  และบางครั้งยังต้องการสิ่งตอบแทนที่มากกว่าการให้เสียอีกก็มี (ค้ากำไรเกินควร)  ผู้เขียนเชื่อว่าการช่วยเหลืออย่างจริงใจดังกล่าวคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนของสังคมไทยในอดีตมีความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกันอย่างแท้จริง 
             จึงเห็นได้ว่าในอดีตการแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งให้แก่กันของผู้คนในสังคม จะเป็นการช่วยเหลือเอื้ออาทรกันด้วยความจริงใจ  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสิ่งนี้คือทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างมากของสังคมไทยในอดีต  และผู้เขียนขอเรียกทุนทางวัฒนธรรมของสังคมไทยในอดีตนี้ว่า  "วัฒนธรรมการแบ่งบัน" (ด้วยความจริงใจ)  วัฒนธรรมการแบ่งบัน(ด้วยความจริงใจ)นี้ทำให้ผู้คนในสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน  ในอำเภอ  ในจังหวัด  ในประเทศ มีความรักใคร่สามัคคีกันอย่างแท้จริง เพราะไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนในสังคม ทำให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมด้วยกันด้วยความสงบสุข  ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าความสามัคคีจะทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ในอดีตแม้หมู่บ้านต่างๆจะไม่มีถนนคอนกรีต ประปา ไฟฟ้า ดังเช่นปัจจุบัน แต่ผู้คนก็มีความสุขกว่าปัจจุบัน   วัฒนธรรมการแบ่งบัน(ด้วยความจริงใจ)จึงเป็นทุนทางวัฒนธรรมและเป็นระบบสร้างสมดุลอย่างแท้จริงให้แก่สังคมของเรา  เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดความรักความสามัคคี และความสุขสงบ แก่ผู้คนในสังคมไทยในอดีตตลอดมา  
             แต่หากเรากลับมาพิจารณาสังคมไทยในยุคนี้พ.ศ.นี้ก็จะพบว่า ปัจจุบันผู้คนในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน อำเภอ ในจังหวัด และประเทศของเราขาดความสามัคคีอย่างมาก  เกิดการแตกแยกของผู้คนไปทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งหากจะวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุจริงๆแล้วก็จะพบว่า  สาเหตุอันเป็นรากเหง้าที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้เป็นเพราะการ “เห็นแก่ตัว”  ผู้คนในสังคมปัจจุบันมีการเห็นแก่ตัวมากขึ้น ตัวใครตัวมันมากขึ้น แก่งแย่งชิงดีกันมากขึ้น มีการแบ่งปั่นกันน้อยลง ใช่หรือไม?   ดังนั้นหากมองในมิติทางวัฒนธรรมแล้วจะพบว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยในปัจจุบันแตกแยกอย่างรุนแรง  เป็นเพราะในปัจจุบันวัฒนธรรมการแบ่งบัน (ด้วยความจริงใจ)  ซึ่งเป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยได้ศูนย์หายไป  ซึ่งวัฒนธรรมที่หายไปส่งผลทำให้ระบบความสมดุลที่มีอยู่เดิมในสังคมไทยศูนย์เสียไปด้วย   และสิ่งใหม่ที่มาแทนวัฒนธรรมดีงามดั้งเดิมก็คือ “การแย่งชิง” ซึ่งใครจะเรียกการแย่งชิงว่าเป็นวัฒนธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวัฒนธรรม และขอเรียกมันว่า วัฒนธรรมการแย่งชิง  ซึ่งวัฒนธรรมการแย่งชิงที่เกิดขึ้นใหม่จะทำให้ระบบสังคมเสียสมดุล เพราะเมื่อแย่งชิงก็ทำให้คนที่แข็งแรงกว่ามีโอกาสมากกว่า (รวมถึงขี้โกงกว่า)  สามารถกอบโกยทรัพยากรต่างๆของสังคมจนเกิดการกระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ระบบสมดุลที่เคยมีอยู่ในสังคมไทยค่อยๆศูนย์เสียไปเป็นลำดับ  และสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นๆเป็นลำดับของผู้คนในสังคม 
             ดังนั้นเหตุผลที่ทำให้ระบบสมดุลของสังคมเสียไปจึงเกิดขึ้นก็เพราะ วัฒนธรรมการแบ่งบัน (ด้วยความจริงใจ)  ในอดีตได้ศูนย์หายไป  อันเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากสังคมไทยถูกครอบงำและถูกจู่โจมอย่างรุนแรงจากกระแสของปรัชญาแบบทุนนิยมแบบไร้ภูมิคุ้มกัน  ซึ่งปรัชญาของตะวันตกเป็นปรัชญา “ทุนนิยม”  มีหลักการที่ให้ความสำคัญไปยังปัจเจกบุคลหรือที่เรียกกันว่า “ปัจเจกชนนิยม”  ปรัชญานี้มีพื้นฐานความเชื่อว่า “ผู้ชนะเท่านั้น จึงจะสามารถอยู่รอดและเป็นที่ยอมรับในสังคม”  ดังนั้นปรัชญากลุ่มนี้จึงทำให้เกิดการกระทำแบบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ปรัชญากลุ่มนี้  จะมีค่านิยมด้านวัตถุเป็นหลัก  จึงทำให้เกิดมนุษย์แบบ “บริโภคนิยม” และ “วัตถุนิยม”  มนุษย์ในโลกทุนนิยมจะให้ความสำคัญทางจิตน้อย    จึงทำให้มนุษย์แบบทุนนิยม  เห็นแก่ตัว  ใช้ชีวิตแบบสุดโต่ง  การที่เราถูกครอบงำและจู่โจมด้วยปรัชญาแบบทุนนิยมแบบไร้ภูมิคุ้มกัน  จึงทำให้เกิดสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็น “วัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย”  คือ วัฒนธรรมการแย่งชิง” เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการแบ่งบัน (ด้วยความจริงใจ) ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมอันดีงามของเรา  วัฒนธรรมการแย่งชิงที่เข้ามาจะเป็นการแย่งชิงกันทุกเรื่อง  “แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา” หรือ “กอบโกย”  ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง และสังคม ฯลฯ (แย่งชิงเรื่องอะไรก็ขัดแย้งในเรื่องนั้น) ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการแตกความความสามัคคีในทุกระดับดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
             และในฐานะที่ผู้เขียนพอจะมีความรู้ในศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมอยู่บ้าง จึงได้พยายามคิดหาแนวทางที่จะฟื้นฟู วัฒนธรรมการแบ่งบัน” (ด้วยความจริงใจ) ให้กลับคืนมา  แม้จะอยู่ท่ามกลางกระแสของทุนนิยมอันเชี่ยวกรากในปัจจุบันก็ตาม  ซึ่งหนึ่งในหลายแนวทางที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมดังกล่าวให้กลับคืนมา คือการ  กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน  คำว่า “กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน” เป็นภาษาโคราช หมายถึงการกินข้าวเย็นร่วมกันและนั่งจับเข่าคุยกัน  โดยมีวิธีการง่ายๆ คือ ผู้คนในแต่ละหมู่บ้านควรนำข้าวปลาอาหารมากินด้วยกันแบบพี่แบบน้องแล้วพูดคุยกันดังเช่นในอดีตอย่างน้อยเดือนละครั้ง  ผู้เขียนคิดว่าหากมีการทำอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ระบบสมดุลของสังคมไทยที่ศูนย์เสียไปกลับคืนมา  เพราะเมื่อผู้คนเริ่มมีการแบ่งปันอาหารและพูดคุยกันทุกเดือน  ก็จะทำให้ผู้คนมีความเข้าใจกันมากขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงและทำให้ผู้คน “รู้จักพอ” มากขึ้น  การรู้จักพอจะทำให้ผู้คนคิดถึงผู้อื่นและทำเพื่อผู้อื่นและมีการแบ่งปันกันมากขึ้น  ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมการแบ่งปัน (ด้วยความจริงใจ)  อันเป็นจุดแข็งหรือทุนทางวัฒนธรรมที่ดีงามของเรา  ได้ฟื้นกลับคืนมามีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของผู้คนในสังคมอีกครั้ง  ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่าการ “กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน” เป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีตให้กลับคืนมา  และผู้เขียนเห็นว่าการ “กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน”  ยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา  ที่มีความต้องการให้ผู้คนในสังคมประเทศไทยมีความเข้มแข็งสามารถพึงตนเองได้ และรู้จักคำว่า “พอเพียง”  มีการช่วยเหลือเอื้ออาทรแก่กันเช่นเดิม  ซึ่งการรู้จักแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรแก่กันจะส่งผลให้สังคมมีความรักใคร่ความสามัคคี  เป็นสังคมที่มีความสงบสุขและเข้มแข็งยั่งยืนอย่างแท้จริงดังเช่นในอดีตนั่นเอง
"ความสามารถพึ่งตนเองโดยยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม
คือความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนที่แท้จริงของสังคม"

ดร.บุญช่วย  พาณิชย์กุล
๖ มกราคม ๒๕๕๖




โสเครติส กล่าวว่า "ความรู้คือคุณธรรม"

อริสโตเติล ขยายความว่า "ความรู้เป็นคุณธรรมส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง"

ดังนั้น ความรู้จึงเป็นคุณธรรมด้านวุฒิปัญญา เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าสิ่งที่มนุษย์รู้ทำให้มนุษย์ตัดสินใจผิดพลาด สร้างแต่ความเดือดร้อนให้แก่ผู้คนในสังคมโดยตลอด ย่อมไม่ถือว่าเป็นความรู้






"ทุกวินาทีที่เวลาโลกหมุนไปข้างหน้า
ชีวิตของท่านก็นับถอยหลังไปเป็นลำดับ
เหลือไว้เพียงประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกกรรมดีกรรมชั่ว"



เศรษฐกิจ

การเมือง

สังคม

วัฒนธรรม

สิ่งแวดล้อม

กฎหมาย



Thales นักปรัชญากรีกโบราณ ได้กล่าวไว้ว่า
"การให้คำแนะนำคนอื่นเป็นเรื่องง่ายที่สุด
การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องยากที่สุด"
(Thales ก่อนพุทธศักราช 42 ปี)
ดังนั้น ภารกิจสำคัญของการเป็นคน จึงเป็นการค้นหาตัวตนของตนเองให้เข้าใจโดยถ่องแท้


"เพราะสิ่งนี้มีจึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดจึงเกิด
เพราะสิ่งนี้ไม่มีจึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับจึงดับ
ไม่มีสาระแก่นแท้อยู่ในสิ่งใด
ทุกสิ่งว่างจากแก่นแท้ ว่างจากตัวตนเพราะว่าทุกสิ่งเป็นอนันตา"
...หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่สะท้อนความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งในโลก



          เรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่ผลของการศึกษาแบบปัจจุบัน คนทั้งหมดรวมทั้งมหาวิทยาลัยด้วยเกือบไม่เข้าใจเลยว่าวัฒนธรรมคืออะไร เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมก็มักคิดถึงการร้องรำทำเพลงและศิลปวัตถุ
          การพัฒนาที่ยั่งยืน คือการพัฒนาที่เอาวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เพราะวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันที่บูรณาการทุกอย่างเข้ามาเพื่อความสมดุล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี
ผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม



We shall need a radically new manner of thinking if mankind is to survive.
"เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์



บาป 7 ประการ
ในทรรศนะของคานธี


          Politics without principles
Pleasure without conscience
Wealth without work
Knowledge without character
Commerce without morality
Science without humanity
Worship without sacrifice

          เล่นการเมืองโดยไม่มีหลักการ
หาความสุขสำราญโดยไม่ยั้งคิด
ร่ำรวยเป็นอกนิษฐ์โดยไม่ต้องทำงาน
มีความรู้มหาศาลแต่ความประพฤติไม่ดี
ค้าขายโดยไม่มีหลักศีลหลักธรรม
วิทยาศาสตร์เลิศล้ำแต่ไม่มีธรรมแห่งมนุษย์
บูชาสูงสุดแต่ไม่มีความเสียสละ


          He who is truly clean within, cannot remain unclean without.
          ผู้ที่บริสุทธิ์จากภายในจริงๆ ย่อมไม่มีทางที่จะสกปรกจากภายนอกได้

          He who is unable to rule over self, can never really succeed in ruling over others.
          ผู้ใดที่ไม่สามารถปกครองตนเองได้ ผู้นั้นย่อมไม่สามารถปกครองผู้อื่นได้อย่างแท้จริง

          The greatness of a person lies in his heart
          ความยิ่งใหญ่ของบุคคลอยู่ที่จิตใจ

          Man’s capacity for self-deception is immeasurably greater than for deceiving others.
          มนุษย์เรานี่แหละสามารถหลอกตนเองได้ดีกว่าที่จะหลอกผู้อื่นมาก
(จาก วาทะคานธี)
โดย : กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย


"เพราะมีความแตกร้าวเราจึงรู้จักการรวมตัว เพราะมีสิ่งขัดแย้งเราจึงพบความกลมกลืน โลกเป็นแหล่งของความกลมกลืนของสิ่งขัดแย้ง เหมือนดนตรีอันไพเราะเกิดจากการประสานเสียง ระหว่างเมโลดี้กับคอร์ดที่ออกมาจากเครื่องดนตรีหลายชนิด โลกของเราเต็มไปด้วยความขัดแย้ง"
(Heractius พ.ศ.8-68)



                                                 พระสมุทรสุดลึกล้น    คณนา
                                        สายดิ่งทิ้งทอดมา                หยั่งได้
                                        เขาสูงอาจวัดวา                   กำหนด
                                        จิตมนุษย์นี้ไซร้                    ยากแท้หยั่งถึง
                                                                                                               โลกนิติคำโคลง
                                                                                                               กรมพระยาเดชาดิศร


                                                 แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์
                                        มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
                                        ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด
                                        ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
                                                                                                               พระอภัยมณี
                                                                                                               สุนทรภู่


                                                 ห้ามเพลิงอย่าให้      มีควัน
                                        ห้ามสุริยแสงจันทร์            ส่องไซร้
                                        ห้ามอายุให้ทัน                  คืนเล่า
                                        ห้ามดั่งนี้ไว้ได้                   จึ่งห้ามนินทา
                                                                                                               โลกนิติคำโคลง
                                                                                                               กรมพระยาเดชาดิศร


                                                 เขาย่อมเปรียบเทียบความว่ายามรัก
                                        แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน
                                        ครั้นจืดจางห่างเหินไปเนิ่นนาน
                                        แต่น้ำตาลก็ว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล
                                                                                                               พระอภัยมณี
                                                                                                               สุนทรภู่


                                                 อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
                                        ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
                                        สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
                                        จึงค่อยชักออกเชือดฟันให้บรรลัย
                                                                                                               เพลงยาวถวายโอวาท
                                                                                                               สุนทรภู่



                                                 เหมหงส์เลี้ยงชีพด้วย    สาคร
                                        ช้างพึ่งพนาดร                        ป่าไม้
                                        ภุมราบุษบากร                        ครองร่าง ตนนา
                                        นักปราชญ์เลี้ยงตัวได้             เพื่อด้วยปัญญา
                                                                                                               สมเด็จพระเดชาดิศร

                                                 ก้านบัวบอกลึกตื้น         ชลธาร
                                        มารยาทส่อสันดาน                 ชาติเชื้อ
                                        โฉดฉลาดเพราะคำขาน         ควรทราบ
                                        หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ        บอกร้ายแสลงดิน
                                                                                                               สมเด็จพระเดชาดิศร

                                                 หลีกเกวียนให้หลีกห้า   ศอกหมาย
                                        ม้าหลีกสิบศอกกราย              อย่าใกล้
                                        ช้างสี่สิบศอกคลาย                คลาคลาด
                                        เห็นทุรชนหลีกให้                  ห่างพ้นลับตา
                                                                                                               สมเด็จพระเดชาดิศร

                                                 แม้มีตัวใหญ่เพี้ยง        ภูผา
                                        สูงเจ็ดลำตาลสา                    มารถแท้
                                        พงศ์พันธุ์ เหล่าจันทรา           สุริเยศก็ดี
                                        ครั้นว่าไร้ทรัพย์แล้ว               ทั่วหล้าฤาเห็น
                                                                                                               สมเด็จพระเดชาดิศร

                                                 นาคีมีพิษเพี้ยง           สุริโย
                                        เลื้อยบ่ทำเดโช                   แช่มช้า
                                        พิษน้อยหยิ่งโยโส               แมลงป่อง
                                        ชูแต่หางเองอ้า                    อวดอ้างฤทธี
                                                                                                               สมเด็จพระเดชาดิศร


                                                 เขามีส่วน    เลวบ้าง    ช่างหัวเขา
                                        จงเลือกเอา    ส่วนที่ดี    เขามีอยู่
                                        เป็นประโยชน์    โลกบ้าง    ยังน่าดู
                                        ส่วนที่ชั่ว    อย่าไปรู้    ของเขาเลย
                                                 จะหาคน    มีดี    โดยส่วนเดียว
                                        อย่ามัวเที่ยว    ค้นหา    สหายเอ๋ย
                                        เหมือนเที่ยวหา   หนวดเต่า    ตายเปล่าเลย
                                        ฝึกให้เคย    มองแต่ดี    มีคุณจริง ฯ
                                                                                                               ท่านพุทธทาสภิกขุ




          การศึกษาในแต่ละศาสตร์จะมีนักคิดนักทฤษฎี สร้างทฤษฎีต่างๆเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมตามแนวทางแห่งศาสตร์นั้นๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยในแต่ละศาสตร์จะสอนวิธีคิดและจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาตามวิธีการเฉพาะของศาสตร์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่การบริหาร แต่ละศาสตร์แต่ละสำนักก็จะมีการศึกษาวิจัยสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ (body of knowledge) ตามแนวทางของตนเอง ทำให้แต่ละศาสตร์มีหลักการที่ใช้อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา และผู้ที่ศึกษาองค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์ก็จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น เพราะได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีในศาสตร์นั้นมาตลอดหลักสูตร นอกจากนี้ผู้ที่ทำการศึกษาในแต่ละศาสตร์ก็จะมีการซึมซับ วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมของนักวิชาการแต่ละศาสตร์ไปในตัว ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในศาสตร์นั้นล้วนจะยึดมั่นในองค์ความรู้ในศาสตร์ที่ได้เรียนรู้กันมาอย่างมั่นคง และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมีวิธีคิดและจะใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตามวิธีการของศาสตร์ที่ตนได้ร่ำเรียนมา ดังเช่น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้ ผู้ที่จบการศึกษาในทางกฎหมายจะเน้นในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา โดยมักจะกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด ผู้ที่จบทางด้านการเมืองการปกครองก็จะกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาในทางรัฐศาสตร์ เน้นการเจรจาต่อรองโดยจะพบจากคำพูดว่า “ถอยกันคนละก้าว” ผู้ที่จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มักมองว่าไปยังการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเห็นว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาความขัดแย้ง เกิดขึ้นจากการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม จึงทำให้เกิดการรวยกระจุกแก่ผู้คนบางกลุ่มและเกิดการผูกขาดอำนาจ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาในการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม สำหรับผู้ที่จบในด้านการบริหารก็มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากการบริหารงานภาครัฐที่ล้มเหลวขาดธรรมาภิบาล จึงทำให้มีการแย่งชิงเข้าสู่อำนาจเพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองในลักษณะ “ธุรกิจทางการเมือง” จึงทำเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมตามมา ดังนั้นจึงต้องทำให้การบริหารงานภาครัฐมีธรรมาภิบาล (Good Governance) และต้องสร้างระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
          จะเห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาความความขัดแย้งในสังคม จึงมีวิธีแก้ไขที่หลากหลายวิธีแล้วแต่มุมมองที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดและเครื่องมือในการแก้ปัญหาของแต่ละศาสตร์และแต่ละสำนัก หรืออาจเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาโดยมิติของแต่ละศาสตร์ที่มองสาเหตุแห่งปัญหาในแง่มุมที่ต่างกันออกไป เช่น มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านการเมือง หรือแม้แต่การบริหาร ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากมุ่งแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ปัญหาความขัดแย้งก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปเพราะในอีกด้านถูกละเลยไม่แก้ไข ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องมีการพิจารณาและแก้ไขให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม
          คำถาม ทำไมจึงเชื่อว่าสามารถนำวัฒนธรรมมาแก้ปัญหาทางสังคมได้ และยังเชื่ออีกว่าวัฒนธรรมสามารถแก้ปัญหาต่างๆของสังคมได้คลอบคุมและดีกว่า ?
          คำถามเหล่านี้คงจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจของผู้ใฝ่รู้จำนวนไม่น้อย ผู้เขียนเห็นว่าคำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่แม้แต่นักวิชาการเองก็ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ดังเช่นท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี กล่าวว่าคนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า วัฒนธรรม มักหมายถึง การแสดง และพิธีการ ในวันสำคัญของชาติ หรือการร้องรำทำเพลง และศิลปะ วัตถุ เท่านั้น จึงมองไม่เห็นว่าวัฒนธรรมจะเป็นพลังในการพัฒนาได้อย่างไร
(ประเวศ วะสี.2547.วัฒนธรรมกับการพัฒนา.[Online].Available:URL:http://research.mcu.ac.th/_htmlfile/menu3/buddhistpv/002.html.)


          คำถาม แล้ววัฒนธรรมหมายถึงอะไร?

          มีผู้ให้ความหมายของคำว่าวัฒนธรรมไว้มากมาย แต่ผู้เขียนขอยกนิยามของคำว่าวัฒนธรรมมาให้เข้าใจโดยสังเขปเล็กน้อย ดังนี้
          เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ส่วนทั้งหมดที่ซับซ้อนอันประกอบด้วยความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรมจรรยา กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถ และนิสัยอื่นใดที่มนุษย์ได้มาในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม”
          เลสลี่ไวท์ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “การรวมอย่างมีระเบียบของปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การกระทำ (แบบแผนพฤติกรรม) วัตถุ (เครื่องมือและสิ่งที่ทำขึ้นโดยใช้เครื่องมือ) ความคิดและความรู้สึก (ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยม) และสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการใช้สัญลักษณ์”
          อี อดัม โฮเบล นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ผลรวมลักษณะสำคัญของพฤติกรรมที่มาจากการเรียนรู้ทั้งหมด โดยสมาชิกของสังคมเป็นผู้แสดงออกและมีส่วนรวม”
          เกอร์ฮาร์ด เลนสกี้ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ระบบสัญลักษณ์และทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ที่ต้องอาศัยลัญลักษณ์”
          พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์ ได้อ้างถึงคำจำกัดความที่ พาร์สันส์ ให้ไว้เกี่ยวกับคำว่า วัฒนธรรมว่าหมายถึง “วิถีทางมาตรฐานต่างๆ แห่งการมีแนวทางและการกระทำที่รวมอยู่ในสัญลักษณ์ที่มีความหมาย”
          เฉลียว บุรีภักดี นิยามคำว่าวัฒนธรรมว่าหมายถึง “วิธีในการดำเนินชีวิต หลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต และเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อการเหล่านั้นจะเป็นสิ่งของที่หามาจากธรรมชาติ หรือคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ก็ตาม” หรือ “วัฒนธรรมคือวิธีการต่างๆที่มนุษย์คิดค้นเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตน”
          พัทยา สายหู ได้ขยายความว่า ความหมายดั้งเดิมของวัฒนธรรมมาจากภาษาละตินว่า “cultur” หมายถึงการเพาะ (พืช) หรือการเลี้ยง (สัตว์) ด้วยฝีมือมนุษย์ที่เข้าไปแทรกซึมเพิ่มเติมกระบวนการธรรมชาติ เช่น agriculture, aquaculture , sericulture (จุไรรัตน์ จันท์ธำรงอ้างใน รัชนีกร เศรษโฐ , 2532 : 3-6
          จึงเห็นได้ว่า “วัฒนธรรม” หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นนอกเหนือจากธรรมชาติ ทั้งด้านวัตถุและไม่ใช่วัตถุ อันเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย วัฒนธรรมเป็นผลผลิตที่เกิดจากสมองอันเป็นเลิศ ความสามารถในการพูด และการมีสติหรือสมาธิที่เหนือกว่าสัตว์อื่น จึงทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้และการหล่อหลอมกล่อมเกลา วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม เกิดเป็นความรู้ และกลายเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ ซึ่งท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี เรียกว่าภูมิปัญญาดั้งเดิม (Traditional Knowledge) ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหรือวิถีชีวิตของชุมชนหรือสังคมได้มากจากประสบการณ์จริง เลือกสรร กลั่นกรอง ลองใช้และถ่ายทอดด้วยการปฏิบัติสืบต่อกันมา วัฒนธรรมเป็นปัญญาที่ผูกติดกับแดนดินถิ่นต่างๆ หรือแผ่นดิน คำว่า วัฒนธรรมคือภูมิ ปัญญา (อ่านว่า พูมิ-ปัน-ยา) จึงมีความเหมาะสม เพราะภูมิแปลว่าแผ่นดิน ภูมิปัญญาหมายถึงปัญญาที่ผูกติดอยู่กับแผ่นดิน (ประเวศ วะสี.2547.วัฒนธรรมกับการพัฒนา.อ้างแล้ว) ดังนั้นการแก้ปัญหาโดยมิติทางวัฒนธรรม จึงเป็นการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการเลือกสรร กลั่นกรอง ลองใช้ว่าได้ผลตลอดมามาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อสำคัญการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มองลึกลงไปยัง วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือจิตใจของผู้คนในสังคมว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจึงทำให้สังคมที่เคยมีความสุขสงบเปลี่ยนเป็นสังคมที่มีแต่ความขัดแย้งเช่นปัจจุบันนี้
          หากเราพิจารณาสารพัดปัญหาของสังคมจะพบว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับวิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ของผู้คนในสังคมทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของสังคมให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ต้องมองลึกลงไปถึงจิตใจของผู้คนในสังคมที่แสดงพฤตกรรมออกมา โดยต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ของผู้คนในสังคมไปอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ แล้วจึงค้นหาวิธีแก้ปัญหาวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างนี้เป็นการมองลึกลงไปยังรากเหง้าหรือก้นบึ้งในสาเหตุของปัญหา ซึ่งผู้เขียนเรียกวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “การแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม” การแก้ไขโดยมิติทางด้านวัฒนธรรมจะเป็นการแก้ปัญหาในทุกมิติแบบบูรณาการ เป็นวิธีการในแก้ปัญหาที่มองสาเหตุของปัญหาที่ลึกลงไปถึงจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม ว่าผู้คนในสังคมมีวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาอย่างนั้น วิธีการแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ทุกด้านทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย การศึกษา ศาสนา การบริหาร เพราะปัญหาทุกด้านล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมเมือง สังคมชนบท คนในองค์กร ซึ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับคนปัญหาและความสำเร็จในการแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัฒนธรรมของผู้คน ทั้งผู้คนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่และคนที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา ดังนั้นการแก้ไขในทุกปัญหาให้ได้ผลอย่างแท้จริงและเกิดผลอย่างยั่งยืน จะต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุทางด้านวัฒนธรรม และหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงแนวทางในการแก้ปัญหา “โดยมิติทางด้านวัฒนธรรม ” นั่นเอง
          ดังนั้น ศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรม หรือ “วัฒนธรรมศาสตร์” (Cultural Science) จึงเป็นศาสตร์ที่เป็นทางออกในการแก้ปัญหาที่หมักหมมไร้ทางออกให้แก่สังคมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการที่เรามักวนเวียนกับวิธีคิดวิธีการแก้ปัญหา ตามองค์ความรู้ในศาสตร์ของใครของมัน ในลักษณะการคิดและทำแบบแยกส่วนมาตลอดมา “วัฒนธรรมศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ใฝ่รู้ ซึ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการศึกษาลักษณะองค์รวม (Holistic) เพราะท่านเหล่านั้นจะทราบดีว่า แท้จริงแล้วองค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางกาย ทางสังคม และทางจิตใจ องค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละชาติพันธ์ แต่ละสังคม แต่ละองค์กร แต่ละสาขาอาชีพ ข้อสำคัญก็คือ....องค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนแต่สร้างและพัฒนาขึ้นมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้เลือกสรร กลั่นกรอง ลองใช้ และทำสืบต่อกันมา ซึ่งเรียกว่า “วัฒนธรรม” นั่นเอง
          ดังนั้น “วัฒนธรรมศาสตร์ จึงเป็นรากเหง้าขององค์ความรู้ในทุกศาสตร์”
          หรือ “องค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม”
           “วัฒนธรรมศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความจริง ที่ศึกษาลึกลงไปยังจิตวิญญาณของผู้คน”
          ดังเช่น ท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี ได้กล่าวความว่า “วัฒนธรรมเป็นความเป็นจริงที่มีชีวิต ถ้าการศึกษาเอาความจริงเป็นตัวตั้งการศึกษาจึงจะสัมผัสกับวัฒนธรรม”
           “การพัฒนาต้องนำมิติทางวัฒนธรรมเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ”
          ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเชิญท่านผู้ใฝ่รู้ทุกท่านมาเรียนหลักสูตรวัฒนธรรมศาสตร์(Cultural Science) ของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามซึ่งได้เปิดสอน ณ.ศูนย์การศึกษานครราชสีมา (อาคาร 6 ชั้น วัดสุทธิจินดา) โดยเมื่อท่านจบปริญญาโทจะได้วุฒิศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเมื่อจบปริญญาเอกก็จะได้วุฒิ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต/Ph.D ข้อสำคัญคือ หากท่านเข้ามาเรียน และปฏิบัติตามกระบวนการในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ท่านจะเป็นนักวิจัยที่สามารถทำการวิจัยทางสังคมได้ทุกเรื่อง ท่านสามารถนำไปใช้ในการสอนในระดับต่างๆหรือเป็นนักวิจัยอิสระ สามารถทำผลงานทางวิชาการในแต่ละสาขาของท่านได้อย่างแท้จริง ดังเช่นความตั้งใจของสถาบันที่ว่า “ มุ่งมั่นสร้างนักวิจัย เพื่อวิจัยและพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ศาสนา กฎหมาย สิ่งแวดล้อม โดยมิติทางด้านวัฒนธรรม"


ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓