คำว่าการเมืองหรือ “Politics” เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจาก “polis” ในภาษากรีกหมายถึงนครรัฐ นักปรัชญากรีกโบราณที่เราคุ้นเคยคือเพลโต(Plato)ได้กล่าวว่าการเมืองเป็นกิจกรรมในการแสวงหาความยุติธรรม เพื่อการดำรงชีวิตที่ดีของสังคม และอริสโตเติล(Aristotle)ได้ให้ความหมายการเมืองว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณชน โดยท่านได้อธิบายว่ารูปแบบการเมืองการปกครองที่ดีคือรูปแบบที่ส่งเสริมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม นอกจากนี้มีนักวิชาการอีกจำนวนมากได้ให้นิยามการเมืองไว้มากมาย อาทิ ฮาโรลด์ ลาสเวลล์ (Haroid Lasswell) กล่าวถึงการเมืองว่า เป็นการตัดสินว่า ใครจะได้อะไร เมื่อใด อย่างไร เพนนอคและสมิธ(Pennock and Smith ) ให้ความหมายการเมืองว่า คือทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอำนาจ สถาบันและองค์กรในสังคม ซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีอำนาจเด็ดขาดครอบคลุมสังคมนั้น ในการสถาปนาและทำนุบำรุงรักษาความเรียบร้อยของสังคม เดวิส อีสตัล (David Eston) ให้ความหมายการเมืองว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดสรรแจกแจงสิ่งที่มีคุณค่าต่างๆในสังคมอย่างชอบธรรม และท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงการเมืองว่า การเมืองอยู่กับการทำหน้าที่ หน้าที่นี้ก็คือ “ระบบจัดหรือการกระทำ เพื่อคนจำนวนมากอยู่กันโดยปราศจากปัญหาโดยไม่ต้องใช้อาชญา” โดยท่านเห็นว่าธรรมะกับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน

                  จากการนิยามของคำว่าการเมืองจะเห็นได้ว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “อำนาจ” เป็นกระบวนการที่จะเข้ามาจัดสรรหรือประนีประนอมผลประโยชน์ของผู้คนในสังคม โดยการเมืองจะต้องเข้ามาดูแลให้ประชาชน “อยู่กันอย่างมีความสุข” หรือถ้าเป็นคำพูดโบราณหน่อยก็จะเรียกว่า “อยู่เย็นเป็นสุข” ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่มนุษย์คิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาทุกด้านให้แก่ผู้คนในสังคม ซึ่งจะมุ่งไปยังผลลัพธ์สุดท้ายในการทำให้ผู้คนในสังคมอยู่กันอย่างมีความสุขนั่นเอง เราอาจแจกแจงบทบาทหน้าที่ของระบบการเมืองให้ละเอียดลงไปอีกว่า การเมืองมีหน้าที่แก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งต่างๆของผู้คนในสังคมไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อกันทำให้ผู้คนมีความรักใคร่สามัคคีกัน ขณะเดียวกันการเมืองจะต้องเข้ามาพัฒนาผู้คนในสังคมให้มีคุณธรรม ให้การศึกษาอบรมเพื่อผู้คนในสังคมจะมีความรู้ความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ การเมืองต้องแก้ปัญหาปากท้องหรือปัญหาเศรษฐกิจทำให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้ นอกจากนี้การเมืองต้องรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนและรักษาเอกราชแห่งรัฐ ข้อสำคัญการเมืองจะต้องเข้ามาจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดความเป็นธรรมเกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชน ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาสารพัดให้แก่ประชาชน ทำให้สมาชิกของสังคมอยู่กันอย่างมีความสุข การเมืองไม่ใช่สิ่งที่จะเข้ามาสร้างปัญหาสร้างความแตกแยกให้แก่ผู้คนในสังคมเสียเอง

                  ในอดีตสังคมไทยถือว่าเป็นสังคมที่มีความสมัครสมานสามัคคีกันอย่างมาก เนื่องจากวัฒนธรรมอันดีงามของเราซึ่งมีสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็ง ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไทยเกิดจากลักษณะเด่นที่เรามีความผูกพันในสายเครือญาติอย่างแน่นแฟ้น ครอบครัวไทยของเราจะให้ความสำคัญอย่างมากกับผู้อาวุโส ซึ่งระบบอาวุโสของเราเปรียบเสมือนฟันเฟื่องหลักในระบบจักรกลของสังคม ระบบอาวุโสที่มีอยู่ในทุกครอบครัวจะคอยหล่อหลอมขับเคลื่อนวัฒนธรรมที่ดีงามที่มีอยู่ในรูปของ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรม รวมถึงการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องและเหมาะสมให้ดำเนินไปในจังหวะก้าวที่ถูกต้อง ประกอบกับสังคมไทยของเรามีการปลูกฝังหลักแห่งคุณธรรมตามคำสอนทางพุทธศาสนา จึงทำให้ผู้คนในสังคมไทยในอดีตโดยเฉพาะสังคมในตำบลหมู่บ้านมีการประพฤติปฏิบัติตามครรลองที่ดีงามของสังคม ผู้คนมีการช่วยเหลือเอื้ออาธรรักใคร่สามัคคีแบบพี่แบบน้องมีวิถีชีวิตที่ดีงามสืบทอดกันตลอดมา สิ่งเหล่านี้ประกอบกันเป็นบุคลิกที่โดดเด่นของผู้คนในสังคมไทย คือ เมื่อพบปะกันก็จะแสดงออกด้วยรอยยิ้มอย่างจริงใจ จนในอดีตฝรั่งเรียกเราว่า “สยามเมืองยิ้ม” การรวมกันที่แน่นแฟ้นตามสายเครือญาติ โดยมีญาติผู้ใหญ่เป็นหลักสำคัญในการหลอมรวมความสัมพันธ์จึงเป็นลักษณะเด่นของสังคมไทย และยังพบว่าในอดีตครอบครัวไทยจำนวนมากแม้จะไม่ใช่ญาติพี่น้องกันโดยสายเลือด แต่ก็มีการนับกันเป็นญาติเป็นพี่น้อง ลุง ป้า น้า อา นี่คือจุดแข็งของสังคมไทยในอดีตที่มีความรักความสามัคคีกันอย่างมาก

                  ความสัมพันธ์แบบพี่แบบน้องซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ดีงามของผู้คนในสังคมไทยได้สืบทอดเรื่อยมา จนกระทั่งเราเริ่มรู้จักกระบวนการเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 จากนั้นเป็นต้นมาการแข่งขันเข้าสู่อำนาจทางการเมืองก็ค่อยๆมีวิธีการหาเสียงหาคะแนนที่ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ เช่น ตั้งหัวคะแนน แบ่งแยกผู้คนในหมู่บ้าน ซื้อเสียง โจมตีให้ร้ายป้ายสี ข่มขู่ ประทุษร้ายกัน เป็นต้น โดยในช่วงแรกวิธีการหาเสียงที่รุนแรงดังกล่าวจะพบเฉพาะในพื้นที่ของการเมืองระดับประเทศหรือในระดับเทศบาลที่มีอยู่ในตัวจังหวัด จนกระทั่งมีการกระจายอำนาจในรูปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปทั่วประเทศ จะพบว่าวิธีการต่อสู้ทางการเมืองที่เคยพบเห็นในการเมืองระดับประเทศก็ได้แพร่กระจายออกไปทุกตำบลหมู่บ้าน และในหลายพื้นที่ยังพบว่ามีความรุนแรงยิ่งกว่าการเมืองระดับประเทศ โดยพบว่าบางแห่งถึงกับฆ่าหัวคะแนนและตัวเก็งในการเลือกตั้งเลยก็มี ที่เป็นเช่นนี้เพราะนักการเมืองท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะเป็นคนของนักการเมืองระดับประเทศที่ส่งลงไปคุมฐานเสียงและผลประโยชน์ในแต่ละท้องถิ่น ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าเมื่อมีการกระจายอำนาจโดยเฉพาะหลังปี พ.ศ.2540 สังคมไทยทั้งประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะวิธีการรุนแรงต่างๆทางการเมืองได้กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงของแผ่นดินไทย ซึ่งหากท่านสอบถามผู้คนหมู่บ้านทั่วไปจะพบคำตอบที่สอดคล้องกันว่า หลังจากผู้คนในแต่ละท้องถิ่นเริ่มรู้จักการเมืองและหันมาเล่นการเมืองท้องถิ่น เกือบทุกหมู่บ้านผู้คนจะมีการแบ่งกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเป็นก๊กเป็นเหล่า มีลักษณะต่างคนต่างอยู่ในลักษณะตัวใครตัวมันมากขึ้น ข้อสำคัญคือความผูกพันกันในสายเครือญาติแบบเดิมจะลดน้อยลง การนับญาติถือกันเป็นพี่เป็นน้อง เป็นลุง ป้า น้า อา ทั้งหมู่บ้านแม้ไม่ใช่ญาติดังเช่นในอดีตมีน้อยลงมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผู้ในคนตำบลหมู่บ้านจะไม่มีการรวมกลุ่มกันเลย หากท่านวิเคราะห์ให้ลึกลงไปก็จะพบว่าการรวมกลุ่มของผู้คนในหมู่บ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในอดีตการรวมกลุ่มจะเน้นในสายเครือญาติโดยมีญาติผู้ใหญ่เป็นแกนสำคัญ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าการรวมกลุ่มของผู้คนในหมู่บ้านจะให้ความสำคัญกับรวมกลุ่มตามฐานเสียงทางการเมืองมากขึ้น โดยพบว่าคนจำนวนมากในแต่ละหมู่บ้านจะรวมกลุ่มกันจากกิจกรรมต่างๆที่นักการเมืองฝ่ายที่ตนสนับสนุนกำหนดขึ้น เช่น การประชุม การเลี้ยงสังสรรค์ หรือแม้แต่พาไปทัศนะศึกษา(ท่องเที่ยว) ก็พบว่ามีการแบ่งกลุ่มกันชัดเจนระหว่างประชาชนที่สนับสนุนนักการเมืองในแต่ละค่าย ซึ่งในหลายแห่งการรวมกลุ่มลักษณะนี้จะมีความแน่นแฟ้นมากเพราะมีกิจกรรมของกลุ่มบ่อยครั้ง และในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มแต่ละครั้งก็มักได้รับการตอบแทนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกลุ่มในสังคมตำบลหมู่บ้านแบบนี้ผู้เขียนเรียกว่า “กลุ่มทางการเมืองของนักการเมือง” เพราะกิจกรรมและค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดมักจะถูกกำหนดโดยนักการเมืองระดับประเทศและมักมีนักการเมืองท้องถิ่นดำเนินการให้ กลุ่มแบบนี้จะผูกพันด้วยระบบอุปถัมภ์ผ่านกิจกรรมต่างๆโดยมีเป้าหมายหลักในการดูแลกลุ่มผู้คนที่เป็นฐานเสียงของตนให้ลงคะแนนให้เมื่อถึงวันเลือกตั้ง

                  ผู้เขียนเห็นว่าการรวมกลุ่มของผู้คนในหมู่บ้านที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต โดยผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้นกับการรวมกลุ่มจากฐานเสียงทางการเมืองที่นักการเมืองตั้งขึ้น ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสังคมในชนบทของประเทศไทยของเรา และเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความแตกแยกไปทั่วทุกหัวระแหงของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งในเรื่องนี้นักการเมืองเองอาจมีความเห็นแย้งว่า “การรวมกลุ่มตามฐานเสียงทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเสียหายเพราะเป็นเสรีภาพของบุคคลที่จะเลือกแนวทางทางการเมืองที่ตนเองชอบอยู่แล้ว และเมื่อการเมืองจบทุกอย่างก็จะจบลงเองเหมือนการเมืองในหลายประเทศ” แต่ผู้เขียนเห็นว่าคำอธิบายดังกล่าวไม่สามารถอธิบายได้กับการเมืองไทย เพราะนักการการเมืองไทยส่วนใหญ่มักมีคำพูดที่รู้กันทั่วไปว่า “ขอชนะอย่างเดียว” ซึ่งการขอชนะอย่างเดียวแปลว่าทำอะไรหรือใช้วิธีการใดก็ได้ขอให้ชนะก็พอ (เมื่อชนะแล้วค่อยแก้ทีหลัง) ดังนั้นพอถึงเวลาเลือกตั้งจึงพบว่าการเมืองไทยจึงมักใช้วิธีรุนแรงและผิดกฎหมายสารพัดวิธีเพื่อให้ตนได้รับการเลือกตั้งเข้ามา ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งจึงต่อสู้กันแบบ “เอาเป็นเอาตาย” ซึ่งวิธีต่างๆการเหล่านี้จะพบเสมอว่าเมื่อการเลือกตั้งจบลงแล้วผู้คนในท้องถิ่นจำนวนมากมักเกิดการแตกแยกอย่างรุนแรง โดยมักจะพบคำพูดจากฝ่ายชนะเสมอว่า “ไม่รู้แพ้รู้ชนะไม่มีน้ำใจกีฬา” ในขณะฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งก็จะว่า “ที่ชนะเพราะโกงมานี่หว่า” จึงพบอยู่เสมอว่าแม้แต่เป็นพี่น้องที่เรียกกันว่า “คลานตามออกมา” เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงจะคุยกันไม่ได้ หรือแม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบางครอบครัวก็มีการลบหลู่อย่างรุนแรงเพราะว่าสนับสนุนการเมืองคนละฝ่าย ผู้เขียนเห็นว่าวิธีการทางการเมืองแบบขอชนะอย่างเดียวหรือการใช้สารพัดวิธีเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง คือสาเหตุสำคัญที่ค่อยๆบั่นทอนสถาบันครอบครัวเครือญาติ ซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นจุดแข็งของวัฒนธรรมไทยของเราให้ล่มสลายลง สิ่งนี้จะชัดเจนขึ้นหากท่านเข้าไปพูดคุยกับผู้คนในหมู่บ้านต่างๆก็จะพบคำกล่าวคล้ายๆกันว่า “ยิ่งมีการเลือกตั้งบ่อยผู้คนยิ่งแตกแยกกันมากขึ้น” แต่ก็น่าแปลกว่าหากท่านถามต่อไปว่าแล้วอยากให้เลือกตั้งบ่อยๆใหม ? ท่านอาจจะได้คำตอบแบบตรงข้ามจากผู้คนจำนวนไม่น้อยว่า “เลือกบ่อยๆก็ดีเหมือนกันเพราะประชาชนจะได้เงินใช้” นี่คือคำตอบติดตลกที่สะท้อนภาพที่แท้จริงของการเมืองไทยได้อย่างดี ดังนั้นการทางการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายโดยใช้สารพัดวิธีเพื่อให้ชนะเลือกตั้งหรือขอชนะอย่างเดียว คือสาเหตุสำคัญที่ค่อยๆบั่นทอนความสัมพันธ์แบบญาติพี่น้องซึ่งเป็นจุดแข็งของวัฒนธรรมของเราที่จะสร้างความสามัคคีให้ล่มสลายลง ถ้าหากเราไม่รู้เท่าทันหรือไม่พยายามยอมรับว่าการเมืองแบบนี้คือสาเหตุสำคัญที่สร้างความแตกแยกไปทั่ว ทำให้สถาบันครอบครัวเครือญาติในชนทบซึ่งรู้ไม่เท่าทันต้องล่มสลายลง ผู้เขียนเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามดำเนินการเพื่อสร้างให้เกิดความปรองดองเพียงใด ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาการแตกความสามัคคีของคนในชาติได้เลย เพราะปัญหาความแตกแยกได้กระจายไปทั่วในระดับหมู่บ้าน โดยมีการเมืองเป็นสาเหตุในการสร้างปัญหาความแตกแยกให้แก่ผู้คนในสังคมนั่นเอง และเมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนอยากตั้งคำถามว่า แล้วทำไมนักการเมืองซึ่งถือว่าเป็นเพียงผู้อาสาที่จะเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนจึงต้องสู้กันรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายในลักษณะ “ขอชนะอย่างเดียว” จนบ้านเมืองแตกความสามัคคีไปทั่ว และเราจะแก้ไขการเมืองแบบนี้อย่างไร?

                  คำถามที่ว่าทำไมนักการเมืองซึ่งถือว่าเป็นเพียงผู้อาสาที่เข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้ประชาชนจึงต้องสู้กันรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายในลักษณะ “ขอชนะอย่างเดียว” ตอบได้ไม่ยากเลย เพียงแต่ท่านจะลองกลับไปถามประชาชนเกี่ยวกับความเข้าใจทางการเมือง ท่านก็จะพบคำตอบที่เหมือนๆกันว่า “การเมืองเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจและแย่งชิงผลประโยชน์” สิ่งนี้ไม่ว่าบรรดานักการเมืองจะพยายามสรรหาคำพูดที่สวยหรูอย่างไร ว่าเขาเป็นเพียงผู้อาสาเข้ามาทำประโยชน์ให้ประชาชน เขาเป็นตัวแทนที่คอยรับใช้ประชาชน จึงถือว่าเป็นผู้ทรงเกียรติในสภาของประชาชน แต่ก็จะพบว่ามีประชาชนน้อยมากที่จะเชื่อว่าบรรดานักการเมืองทั้งหลายเป็นผู้ที่อาสามารับใช้ประชาชน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่านักการเมืองจำนวนมากมีลักษณะเป็นตัวแทนกลุ่มทุนมากกว่าเป็นตัวแทนประชาชน และพบว่าปัจจุบันมีนักธุรกิจจำนวนมากผันตัวเข้าสู่วงการเมืองทั้งระดับประเทศและท้องถิ่น เพื่อทำธุรกิจกับทรัพยากรทางการเมืองที่มีอยู่อย่างมหาศาล ข้อสำคัญมักพบข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า เมื่อทำงานทางการเมืองไประยะหนึ่งนักการเมืองเหล่านี้มักจะรวยขึ้นๆอย่างก้าวกระโดด แซงหน้านักธุรกิจอื่นๆทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ประชาชนเชื่อว่านักการเมืองเป็นตัวแทนผู้ทรงเกียรติของประชาชน ดังนั้นจึงสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมเวลาเลือกตั้งนักการเมืองจึงสู้กันรุนแรงแบบเอาเป็นเอาตายในลักษณะ “ขอชนะอย่างเดียว” ก็เพราะในการเมืองทุกระดับมีผลประโยชน์อยู่มหาศาลนั่นเอง และในปัจจุบันนักธุรกิจต่างรู้ทั่วกันว่าธุรกิจที่ให้กำไรและมีมูลค่ามากที่สุดคือ “ทำธุรกิจการเมือง”
                  สำหรับคำถามที่ว่าแล้วเราจะแก้ไขการเมืองแบบเอาเป็นเอาตายในลักษณะ “ขอชนะอย่างเดียว” อย่างไร? ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลสำคัญที่นักการเมืองสู้แบบเอาเป็นเอาตายในการเลือกตั้ง เพราะเขาเห็นว่าทำแล้วคุ้มกับการลงทุนคุ้มกับการเสี่ยง เพราะการได้เข้าสู่อำนาจหมายถึงการได้บริหารงบประมาณที่มีอยู่มากมายมหาศาล งบประมาณเสมือน “ขนมเค้ก” นักการเมืองส่วนใหญ่มักทะเลาะกันจากสาเหตุการแบ่งเค้กไม่ลงตัว ที่เป็นปัญหาก็เพราะเขามักเข้าใจว่าเค้กเป็นของตนเอง แท้จริงแล้วเค้กที่แย่งชิงกันเป็นของประชาชน ข้อสำคัญขนมเค้กมีราคาแพงเกินจริงไปอย่างมาก หรือพูดให้ตรงๆก็คือ ที่นักการเมืองสามารถคอรับชันได้ 20- 40 % ในปัจจุบัน เป็นเพราะราคากลางของทางราชการแพงเกินความเป็นจริงจากราคาท้องตลาดไป 40-50% ส่วนต่างของราคาที่แพงเกินจริงคือผลประโยชน์ที่ซ่อนไว้ แต่เนื่องจากส่วนที่ซ่อนไว้หรือราคากลางมันสูงเกินจริงไปอย่างมาก จึงทำให้นักการเมืองต่อสู้ช่วงชิงเพื่อเข้าสู่อำนาจอย่างบ้าคลั่ง เพื่อให้ตนสามารถเข้ามาบริหารงบประมาณที่มีส่วนเกินของราคากลางที่แฝงอยู่จำนวนมาก ผู้เขียนเชื่อว่าราคากลางที่สูงเกินจริงคือสาเหตุหลักของคอรับชัน และคอรับชันคือสาเหตุของทุกปัญหาในบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาของความรุนแรงทางการเมืองทำให้เกิดการเมืองแบบ “ขอชนะอย่างเดียว” การเมืองแบบขอชนะอย่างเดียวทำให้วัฒนธรรมการอยู่แบบพี่แบบน้องจากความผูกพันตามสายครอบครัวเครือญาติเดิมล่มสลาย นำมาซึ่งการแตกความสามัคคีของผู้คนทั่วไปในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อแก้ต้นเหตุแห่งปัญหา ผู้เขียนเห็นว่าต้องตัดราคากลางในงานก่อสร้างและจัดซื้อจัดจ้างลงทุกอย่างประมาณ 40-50 % หากตัดราคากลางลงให้ใกล้เคียงกับราคาที่แท้จริงในท้องตลาด จะส่งผลให้ความรุนแรงทางการเมืองลดน้อยลง เพราะการทำธุรกิจกับการเมืองจะได้กำไรน้อยลง ซึ่งเมื่อเห็นว่าเข้าไปทำธุรกิจในการเมืองแล้วไม่คุ้มก็จะทำให้มีคนถอยออกมาหันกลับไปทำงานอื่นมากขึ้น การเมืองก็จะมีผู้ที่เสียสละอย่างแท้จริงหรือจิตอาสาเข้าสู่ระบบการเมืองมากขึ้นและระบบการเมืองก็จะดีขึ้นในที่สุด ดังนั้นปัจจัยเรื่องราคากลางที่สูงเกินจริงจึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขให้เหมาะสมโดยด่วน ซึ่งเรื่องแค่นี้โดยหลักแล้วเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายอย่างมาก แต่ความยากจะอยู่ที่นักการเมือง เพราะคงไม่มีนักการเมืองคนไหนจะยอม “ ตัดผลประโยชน์ออกจากการเมือง”



ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๓