ในอดีตประเทศไทยของเราก็เช่นเดียวกันกับประเทศต่างๆในโลก ที่ประชาชนล้วนดำรงชีพจากวิถีการผลิตเพื่อกินเพื่อใช้และอาศัยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ โดยจะปลูกผลผลิตทางการเกษตรและเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้บริโภคในส่วนที่มีอยู่ไม่เพียงพอตามธรรมชาติ การปลูกจะปลูกพืชในลักษณะปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก โดยไม่คำนึงถึงว่าขายได้หรือไม่ ดังนั้นผู้คนในแต่ละหมู่บ้านจึงมักปลูกผักผลไม้ที่เหมาะกับพื้นที่ และเป็นผักผลไม้ตามฤดูกาลเพื่อไว้กินไว้ใช้ในครอบครัวรวมถึงไว้แจกแก่เพื่อนบ้านเพื่อสร้างมิตรไมตรี วิถีการผลิตดังกล่าวสร้างให้เกิดภาวะสมดุลทำให้สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติไม่ถูกทำลายลงไป ระบบนิเวศของธรรมชาติจะคงความสมบูรณ์สามารถสร้างผลผลิตเกื้อกูลให้แก่ผู้คนในหมู่บ้านได้กินได้ใช้อย่างเพียงพอโดยตลอด ทำให้ในอดีตผู้คนในตำบลหมู่บ้านอยู่กันอย่างมีความสุขไม่ต้องดิ้นรนให้เดือดร้อนอะไรมากมาย ต่อมาเมื่อการพัฒนากระแสหลักได้เข้ามามีอิทธิพลมากขึ้น วิถีการผลิตแบบเดิมของคนไทยได้เปลี่ยนไปสู่วิถีการผลิตเพื่อการค้ามากขึ้น ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านต่างๆเริ่มหันปลูกพืชทางเศรษฐกิจตามความต้องการของตลาด เพื่อมุ่งหากำไรตามแบบอย่างในการทำธุรกิจการค้ามากขึ้น การปลูกพืชมักจะเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ผู้คนในหมู่บ้านไม่ได้ใช้บริโภค เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด การปลูกพืชดังกล่าวมีการลงทุนจำนวนมาก เพราะต้องจ้างรถไถ ซื้อปุ๋ย จ้างแรงงาน ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรเริ่มประสบปัญหาขาดทุน และขาดทุนสะสมมากขึ้นๆทุกปีผู้คนในหมู่บ้านเริ่มเข้าสู่วงจรการกู้เงินทั้งในและนอกระบบ ท้ายที่สุดก็ได้ค่อยๆ เกิดการล้มละลายในภาคเกษตรทั้งระบบ ผู้คนในหมู่บ้านไม่สนใจทำงานในภาคการเกษตรเพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ต้องทิ้งถิ่นฐาน ทิ้งครอบครัวเพื่อเข้าไปหางานทำในเมือง ในชนบทจะเหลือเพียงเด็กและคนแก่ไว้เฝ้าบ้าน ทำให้ครอบครัวขาดความอบอุ่น ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมในทุกด้านเช่นปัจจุบัน การพัฒนาในภาคการเกษตรที่ละทิ้งวิถีการผลิตแบบเดิม เปลี่ยนมาเป็นวิถีการผลิตที่มุ่งหวังกำไรเช่นเดียวกับการทำธุรกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ถือว่าเป็นการหลงทางในการพัฒนาภาคเกษตรในประเทศไทยอย่างมาก เพราะพบว่ายิ่งเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจโดยมุ่งกำไรมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น หรือ “ยิ่งทำยิ่งจน” ถือได้ว่าเป็นการพัฒนาที่เดินตามกระแสที่ผิดทางตลอดมา ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นว่าเกษตรกรควรเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด หันกลับเข้าไปสู่วิถีการผลิตแบบเดิมของเราได้แล้ว เราควรกลับมาเน้นในการ “ปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก” ดังเช่นในอดีตของเรา พืชผักสวนครัวรั้วกินได้ควรเริ่มรื้อฟื้นกลับมา แต่ต้องเป็นการทำโดยจิตสำนึกที่อยากทำ ไม่ใช่ทำโดยใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากดังที่เคยเกิดปัญหา หากมีพื้นที่จำนวนมากต้องการจะปลูกพืชทางเศรษฐกิจเพื่อหากำไรก็ไม่ควรทุ่มสุดตัว ควรเหลือพื้นที่สำหรับการปลูกเพื่อกินเพื่อใช้จนเพียงพอในครอบครัวตนเองเสียก่อน ผู้เขียนมั่นใจว่าหากสิ่งเหล่านี้กลับคืนมา ก็มีส่วนช่วยทำให้วิถีชีวิตที่สุขสงบในด้านอื่นๆ ของหมู่บ้านค่อยๆ กลับคืนมาเหมือนเดิม


ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓