ผู้เขียนเห็นว่า วิธีคิดคำนวณหรือการวัดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติจากรายจ่าย ของสำนักเคนส์ ที่เน้นในการอธิบายเกี่ยวกับค่าจ่ายในภาคต่างๆ เช่น ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาลมาคำนวนเป็นค่า GDP แล้วเปรียบเทียบตัวเลขที่เพิ่มขึ้นว่าเป็นการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ แม้จะเกิดประโยชน์ในการนำมาแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจในโลกทุกนิยม แต่ผลที่เกิดขึ้นอีกด้านหนึ่งของทฤษฎีนี้ คือค่านิยมแบบบริโภคนิยมที่เข้มข้นรุนแรงมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อผู้คนในโลกทุนนิยม

          กล่าวคือทฤษฎีสำนักเคนส์นี้จะเน้นในการนำค่าจ่ายในภาคต่างๆ มาคำนวนเป็นค่า GDP และเห็นว่ายิ่ง GDP โตขึ้นเศรษฐกิจจะยิ่งดีขึ้นผู้คนจะมีงานทำมีรายได้มากขึ้น โดยเห็นว่าการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนเพื่อการบริโภค (Consumption) การใช้จ่ายภาคธุรกิจ(Investment Spending) การใช้จ่ายในภาครัฐหรือการใช้จ่ายของรัฐบาล (Government Expenditure) จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งวัดได้เป็นค่า GDP จากสูตร GDP = C+I+G+(X-M) ซึ่งหมายถึงการนำเอาค่าใช้จ่ายในทุกภาคมารวมกัน แล้วบวกด้วยผลต่างของรายได้ในการนำเข้าและส่งออก โดยเห็นว่าว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือGDPสูงขึ้น จะเริ่มต้นจากการกระตุ้นความต้องการหรืออุปสงค์มวลรวม (Demand) ในภาคครัวเรือน ให้ครัวเรือนเกิดกำลังซื้อหรือมีความต้องการซื้อมากขึ้น เมื่อครัวเรือนมีความต้องการซื้อมากขึ้นก็จะทำให้ภาคธุรกิจเพิ่มหรือขยายกำลังผลิตมากขึ้น มีการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้นทำให้ประชาชนมีงานทำมีรายได้มากยิ่งขึ้น และเมื่อประชาชนมีงานทำมีรายได้มากขึ้น ก็จะยิ่งส่งผลให้เกิดกำลังซื้อมากยิ่งขึ้นมีการจ้างงานมากขึ้น รัฐบาลก็จะเก็บภาษีได้มากขึ้นสามารถนำเงินภาษีมาสร้างถนนไฟฟ้าประปา ซึ่งเป็นเรื่องสาธารณูปโภคและดูแลด้านสวัสดิการให้อยู่ดีกินดียิ่งขึ้น จากความเชื่อตามทฤษฎีสำนักเคนส์ดังกล่าวจะเชื่อว่า การใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องของทุกภาคจะทำให้ GDP เติบโตมากขึ้นหลายเท่าแบบทวีคูณ ซึ่งGDPที่โตขึ้นหมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและจะส่งผลดีต่อประชาชนทั่วไป ในลักษณะการไหลรินสู่เบื้องล่าง ( Tickle Dawn Effect ) ซึ่งหมายถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นหลักสำคัญของทฤษฎีนี้จึงเน้นไปที่การใช้จ่ายของภาคต่างๆ โดยเห็นว่าการใช้จ่ายในภาคต่างๆโดยเฉพาะภาคครัวเรือน คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งวัดได้จากค่า GDP ที่เติบโตขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีงานทำอยู่ดีกินดีขึ้นตามมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากแนวคิดตามวิธีการคำนวณรายได้ประชาชาติสำนักเคนส์ ที่เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคต่างๆคือตัวแปรสำคัญในการทำให้ GDP เติบโตและจะส่งผลให้ประชาชนอยู่ดีกินดีนั้น ในปัจจุบันกลับทำให้ผลของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่กับชนชั้นหนึ่งโดยเฉพาะ ที่เรียกกันว่า “รวยกระจุกจนกระจาย”

          สิ่งสำคัญก็คือ ผลกระทบ(Impact)ที่เกิดจากความเชื่อและการปฏิบัติตามทฤษฎีนี้อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ค่านิยมการบริโภคนิยมขยายตัวรุนแรงมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับตลอดมา เพราะเหตุที่ว่าเมื่อทฤษฎีนี้เห็นว่าค่าใช้จ่ายของภาคต่างๆคือปัจจัยสำคัญที่จะทำใน GDP โตขึ้น โดยมุ่งเน้นไปยังการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนที่เรียกว่าอุปสงค์หรือ Demandเป็นสำคัญ เห็นว่าความต้องการในลักษณะกล้าซื้อกล้าใช้จ่ายหรือความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชน จะเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะเกิดการใช้จ่ายของภาคอื่นๆตามมา แนวคิดดังกล่าวนี้จึงเป็นแรงผลักสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีการใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือยไม่ยั้งคิดปราศจากเหตุผลมากขึ้น มีค่านิยมแบบบริโภคนิยมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ความเชื่อที่ว่ายิ่งใช้จ่ายมากเศรษฐกิจจะยิ่งดีมากขึ้น และจะเกิดการไหลรินสู่เบื้องล่างทำให้ประชาชนจะอยู่ดีมีสุขยิ่งขึ้น จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งที่จะทำให้ค่านิยมแบบบริโภคนิยมในโลกทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็วรุนแรงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นค่านิยมแบบบริโภคนิยมที่ขยายตัวอย่างมากเป็นลำดับตลอดมา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องจากความเชื่อในการคำนวณรายได้ประชาชาติจากรายจ่ายตามทฤษฎีเคนส์ ซึ่งเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคหรือเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ทรงพลังในโลกทุนนิยม แนวคิดของทฤษฎีนี้ได้เข้าไปมีอิทธิพลครอบงำความคิดของผู้นำและนักวิชาการในโลกทุนนิยมทุกประเทศ ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่เป็นหลักในการนำมากำหนดนโยบายการเงินการคลังของทุกประเทศ เป็นความเชื่อที่แปลเป็นวิถีปฏิบัติ หล่อหลอม ปลูกฝังเข้าไปสู่สำนึกและจิตวิญญาณของผู้คนในโลกทุนนิยมมากขึ้นเป็นลำดับอย่างไม่รู้ตัว ทำให้ผู้คนในโลกทุนนิยมเชื่อตามกันว่าต้องกล้าใช้จ่ายมากขึ้นเศรษฐกิจถึงจะดีและทุกคนก็จะดีไปด้วย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการสะสมพอกพูนค่านิยมแบบบริโภคนิยมอย่างไม่รู้ตัว

          จึงเห็นได้ว่าแม้ทฤษฎีของสำนักเคนส์จะทรงพลังสามารถอธิบายและแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างดี แต่ในทางตรงกันข้ามทฤษฎีดังกล่าวยังสร้างให้เกิดผลกระทบ (Impact)ที่ร้ายแรง เพราะทำให้เกิดค่านิยมแบบบริโภคนิยมที่รุนแรงมากขึ้น เป็นการส่งเสริมลัทธิวัตถุนิยมที่แฝงตัวอยู่ในโลกทุนนิยมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการทำให้มนุษย์ในโลกทุนนิยมให้ความสำคัญด้านวัตถุมากกว่าจิตใจ ตีค่าความเป็นมนุษย์ตามมูลค่าของวัตถุ แบ่งชนชั้นวรรณะตามมูลค่าของวัตถุที่ครอบครองอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่พบเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้นในสังคมปัจจุบัน ผู้เขียนเห็นว่าความเข้มข้นของค่านิยมแบบบริโภคนิยมที่นับวันจะเกิดมากยิ่งขึ้นในโลกทุนนิยม ส่วนหนึ่งเกิดจากหลักและวิธีคิดของทฤษฎีดังกล่าวนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผลกระทบของทฤษฎีที่เกิดขึ้น ที่ต้องนำไปหักลบออกจากผลลัพธ์ที่ได้จากการปฏิบัติตามทฤษฎีว่าคุ้มเพียงใด เพราะผลสำเร็จที่ได้จากการกระตุ้นเศรษฐกิจตามวิธีนี้ จะส่งผลเชิงลบทำให้ผู้คนมีลักษณะวัตถุนิยมมากขึ้น ให้สำคัญด้านวัตถุมากกว่าจิตใจ ซึ่งความเสียหายและปัญหาต่างๆในสังคมขณะนี้ก็เป็นเพราะผู้คนมีลักษณะวัตถุนิยมมากขึ้น ให้สำคัญด้านวัตถุมากกว่าจิตใจ ชิงดีชิงเด่น แย่งชิงกัน โดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดีมิใช่หรือ?



ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓