การศึกษาในแต่ละศาสตร์จะมีนักคิดและเจ้าของทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ตามแนวทางแห่งศาสตร์นั้นๆอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยในแต่ละศาสตร์จะสอนวิธีคิดและจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาตามวิธีการเฉพาะของแต่ละศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่การบริหาร แต่ละศาสตร์แต่ละสำนักก็จะมีการศึกษาการวิจัยสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ (body of knowledge) ในศาสตร์นั้นๆมาเป็นลำดับ ซึ่งศาสตร์ต่างๆก็ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ในแนวทางของตนเองให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเรื่อยมา ผู้ที่ศึกษาองค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์ก็จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น เพราะได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีในศาสตร์นั้นมาตลอดหลักสูตร นอกจากนี้ผู้ที่ทำการศึกษาในแต่ละศาสตร์ก็จะมีการซึมซับ วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมของนักวิชาการแต่ละศาสตร์ไปในตัว ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในศาสตร์นั้นล้วนจะยึดมั่นในองค์ความรู้ในศาสตร์ที่ได้เรียนรู้กันมาอย่างมั่นคง และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมีวิธีคิดและจะใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆตามวิธีการของศาสตร์นั้น ดังเช่น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้ ผู้ที่จบการศึกษาในทางกฎหมายจะเน้นในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา โดยมักจะกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด ผู้ที่จบทางด้านการเมืองการปกครองก็จะใช้วิธีแก้ปัญหาในทางรัฐศาสตร์ เน้นการเจรจาต่อรองโดยจะพบจากคำพูดว่า “ถอยกันคนละก้าว” ผู้ที่จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มองว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากปัญหาของการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม จึงทำให้เกิดการรวยกระจุกแก่ผู้คนบางกลุ่มและเกิดการผูกขาดอำนาจ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาในการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม สำหรับผู้ที่จบในด้านการบริหารอาจมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากการบริหารงานภาครัฐที่ล้มเหลวขาดธรรมาภิบาล จึงทำให้มีการแย่งชิงเข้าสู่อำนาจเพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองในลักษณะ “ธุรกิจทางการเมือง” จึงทำเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมตามมา ดังนั้นจึงต้องทำให้การบริหารงานภาครัฐที่มีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
           จะเห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาความความขัดแย้งในสังคม จะมีวิธีแก้ไขที่หลากหลายวิธีแล้วแต่มุมมองที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดและเครื่องมือในการแก้ปัญหาของแต่ละศาสตร์ หรืออาจเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาโดยมิติของแต่ละศาสตร์ที่มองสาเหตุแห่งปัญหาในแง่มุมที่ต่างกันออกไป เช่น มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านการเมือง หรือแม้แต่การบริหาร ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากมุ่งแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ปัญหาความขัดแย้งก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปเพราะในอีกด้านถูกละเลยไม่แก้ไข ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องมีการพิจารณาและแก้ไขให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม
           เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ส่วนทั้งหมดที่ซับซ้อนอันประกอบด้วย ความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรมจรรยา กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถ และนิสัยอื่นใดที่มนุษย์ได้มาในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม”
           เลสลี่ไวท์ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “การรวมอย่างมีระเบียบของปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การกระทำ (แบบแผนพฤติกรรม) วัตถุ (เครื่องมือและสิ่งที่ทำขึ้นโดยใช้เครื่องมือ) ความคิดและความรู้สึก (ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยม) และสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการใช้สัญลักษณ์”
           อี อดัม โฮเบล นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ผลรวมลักษณะสำคัญของพฤติกรรมที่มาจากการเรียนรู้ทั้งหมด โดยสมาชิกของสังคมเป็นผู้แสดงออกและมีส่วนรวม”
           เกอร์ฮาร์ด เลนสกี้ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ระบบสัญลักษณ์และทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ที่ต้องอาศัยลัญลักษณ์”
           พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์ ได้อ้างถึงคำจำกัดความที่ พาร์สันส์ ให้ไว้เกี่ยวกับคำว่า วัฒนธรรมว่าหมายถึง “วิถีทางมาตรฐานต่างๆ แห่งการมีแนวทางและการกระทำที่รวมอยู่ในสัญลักษณ์ที่มีความหมาย”
           เฉลียว บุรีภักดี นิยามคำว่าวัฒนธรรมว่าหมายถึง “วิธีในการดำเนินชีวิต หลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต และเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อการเหล่านั้นจะเป็นสิ่งของที่หามาจากธรรมชาติ หรือคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ก็ตาม” หรือ “วัฒนธรรมคือวิธีการต่างๆ ที่มนุษย์คิดค้นเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตน”
           พัทยา สายหู ได้ขยายความว่า ความหมายดั้งเดิมของวัฒนธรรมมาจากภาษาละตินว่า “Culture” หมายถึงการเพาะ (พืช) หรือการเลี้ยง (สัตว์) ด้วยฝีมือมนุษย์ที่เข้าไปแทรกซึมเพิ่มเติมกระบวนการธรรมชาติ เช่น agriculture, aquaculture, sericulture
           ดังนั้นวัฒนธรรมจึงหมายถึง “ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นนอกเหนือจากธรรมชาติ”
           กล่าวโดยสรุป วัฒนธรรมเป็นผลผลิตที่เกิดจากสมองอันเป็นเลิศ ความสามารถในการพูด และการมีสติหรือสมาธิที่เหนือสัตว์อื่นของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้และการหล่อหลอมกล่อมเกลา วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม และเกิดความรู้ วัฒนธรรมจึงหมายถึง ทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและได้กระทำสืบต่อกันมา ทั้งด้านวัตถุและไม่ใช่วัตถุ อันเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิต
           เนื่องจากทุกปัญหาในสังคมล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับคน ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกี่ยวข้องกับวิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ของผู้คนในสังคมมนุษย์ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของสังคมให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ต้องมองลึกลงไปถึงจิตใจของผู้คนในสังคมที่แสดงพฤตกรรมออกมา โดยต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ของผู้คนในสังคมไปอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ แล้วจึงค้นหาวิธีแก้ปัญหาวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างนี้เป็นการมองลึกลงไปยังรากเหง้าหรือก้นบึ้งในสาเหตุของปัญหา ซึ่งผู้เขียนเรียกวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “การแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม” การแก้ไขโดยมิติทางด้านวัฒนธรรมจะเป็นการแก้ปัญหาในทุกมิติแบบบูรณาการ รวมถึงการแก้ปัญหาที่มองสาเหตุของปัญหาที่ลึกลงไปถึงจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม ว่าผู้คนในสังคมมีวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาอย่างนั้น วิธีการแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ทุกด้านทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย การศึกษา ศาสนา การบริหาร เพราะปัญหาทุกด้านล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมเมือง สังคมชนบท คนในองค์กร ซึ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับคนปัญหาและความสำเร็จในการแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัฒนธรรมของผู้คน ทั้งผู้คนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่และคนที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา ดังนั้นการแก้ไขในทุกปัญหาให้ได้ผลอย่างแท้จริงและเกิดผลอย่างยั่งยืน จะต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุทางด้านวัฒนธรรม และหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงแนวทางในการแก้ปัญหา “โดยมิติทางด้านวัฒนธรรม ” นั่นเอง

ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓