จากนิยามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของ "อับราฮิม ลังคอร์น" ที่นักการเมืองไทยชอบอ้างคือ เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน คำว่าเพื่อประชาชนน่าจะเป็นหัวใจสำคัญของคำพูดประโยคนี้ เพราะคำว่าเพื่อประชาชนเป็นเป้าหมายที่ "อับราฮิม ลังคอร์น" เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในการเมืองการปกครองระบอบนี้ แต่ผลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของเรากลับพบว่า นักการเมืองจำนวนไม่น้อยไม่ใช่เข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน แต่เข้ามาเอาผลประโยชน์จากทรัพยากรซึ่งเป็นของประชาชน เนื่องจากในระบบการเมืองเป็นแหล่งสะสมของผลประโยชน์มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ตำแหน่งหน้าที่ งบประมาณ เมื่อได้เข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง นักการเมืองจะกลายเป็นบุคคลที่เหนือมนุษย์ในสังคมโดยทันที (โดยเฉพาะรัฐมนตรี) เขาจะกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ข้าราชการทั้งระบบต้องปฏิบัติตาม เขาจะเปลี่ยนเป็นเศรษฐีคนใหม่และอยู่ในสังคมชั้นสูงอย่างรวดเร็ว เพราะอำนาจมันหอมหวนและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ดังนั้นจึงพยายามกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ซึ่งโดยมากมักไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา" การเมืองจึงเป็นเกมการแย่งชิงอำนาจและต่อรองผลประโยชน์ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ และสิ่งที่ถือว่าเป็นวิธีการทางการเมืองที่ใช้กันเป็นประจำนอกจากเงินก็คือ การพูดหรือให้ข้อมูลที่บิดเบือนในลักษณะ "เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น" จึงทำให้สังคมไทยเต็มไปด้วยข่าวลือจนไม่รู้ว่าอะไรเรื่องจริงอะไรเรื่องเท็จ ผู้คนจะฟังตามๆกันมาและพูดต่อๆกันไปจนบางครั้งเป็นการเผยแพร่และส่งเสริมคำพูด"มุสา" หรือคำโกหกโดยไม่รู้ตัว โดยตรรกะแล้ว ความจริงในเหตุการณ์หนึ่งจะมีสิ่งเดียว แต่พบว่าในปัจจุบันประเทศไทยของเรามีการอ้างความจริงจากเหตุการณ์เดียวกันมากกว่าหนึ่งอย่างแบบตรงข้ามกัน แต่ละฝ่ายจะอ้างว่าสิ่งที่ตนพูดหรือรู้มาเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ปัญหาความแตกแยกอย่างรุนแรงของผู้คนในสังคมไทยขณะนี้ก็เพราะมีการปลุกปั่นสร้างข่าวลือสร้างเรื่องเท็จใช่หรือไม่? ถึงเวลาหรือยังที่นักการเมืองและผู้ที่อยู่ในแวดวงทางการเมืองจะกลับมารับผิดชอบต่อประชาชน โดยการเลิกกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในลักษณะ “ต้องชนะอย่างเดียว” เลิกกระทำการแบบไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดีได้หรือยัง เพราะหากทำอะไรก็ได้เพื่อให้ชนะและให้ได้อำนาจอย่างเดียวจนบ้านเมืองล่มจม ประชาชนคนไทยจะอยู่กันอย่างไร ใหนว่าเป็นการปกครอง ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน


ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓