พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแด่พสกนิกรไทยมากกว่า 25 ปี  ซึ่งวัตถุประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน  ก็เพื่อนำพาประชาชนซึ่งเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่านให้มีการใช้ชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน สามารถอยู่อย่างมีความสุขภายใต้กระแสทุนนิยมและวัตถุนิยม ที่ครอบคลุมโลกและประเทศไทยของเราอย่างเข้มข้นในปัจจุบัน  หลักการสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งเน้นจะฟื้นฟูความสมดุลในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไทยให้กลับคืนมา  ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากการที่ผู้คนในสังคมไทยใช้ชีวิตตามกระแสที่ครอบงำตามแนวคิดทฤษฎีของตะวันตก ที่มีบริบทสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่แตกต่างกับประเทศของเราโดยสิ้นเชิง  จึงทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับมา  ส่งผลให้แม้แต่สังคมในชุมชนตำบลหมู่บ้านของไทยในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไปอย่างมากจนบางแห่งเกือบไม่หลงเหลือรากเหง้าดั้งเดิมของความเป็นไทย  และสิ่งที่พบเห็นชัดเจนคือผู้คนในสังคมไทยของเรามีลักษณะบริโภคนิยมวัตถุนิยมและ “เห็นแก่ตัว” มากขึ้น  ซึ่งความเห็นแก่ตัวดังกล่าวคือเชื้อร้ายของสังคม ที่นำมาซึ่งวิกฤตในทุกด้านของสังคม ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่การศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทุกด้านของสังคม  ก็ล้วนเกิดจากปัญหาของการเห็นแก่ตัวที่มากขึ้นของผู้คนในสังคมทั้งสิ้น
             ดังที่ทราบกันดีว่าสังคมไทยในอดีตเป็นสังคมเกษตร  มีการปลูกพืชเพื่อกินเพื่อใช้ในครอบครัวดังคำกล่าวที่ว่าผู้คนจะ “ปลูกทุกอย่างที่กินและกินทุกอย่างที่ปลูก”  และในด้านสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันหลักและเป็นพื้นฐานของทุกสังคม  จะพบว่าครอบครัวคนไทยในอดีตจะมีลักษณะครอบครัวใหญ่ซึ่งประกอบด้วยพ่อแม่ลูกพี่น้องและญาติผู้ใหญ่อยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่น   และพบอยู่เสมอว่าผู้คนในหมู่บ้านเกือบทุกหมู่บ้านแม้ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องตามสายเลือดแต่ก็ยังนับกันเป็นญาติ  โดยมีการเรียกกันเป็น พ่อ  แม่ ลุง ป้า น้า อา พี่ น้องกันทั้งหมู่บ้าน  จุดเด่นอีกอย่างของสังคมในอดีตของเราคือการให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ “ระบบอาวุโส” ผู้อาวุโสของแต่ละครอบครัวและของหมู่บ้านจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทุกคนให้การนับถือและให้เกียรติอย่างมาก  และระบบอาวุโสนี่เองที่จะคอยทำหน้าที่สืบทอดสิ่งที่ถูกต้องดีงามและระบบคุณธรรมของสังคม ทำให้สังคมไทยในอดีตอยู่ด้วยกันอย่างสุขสงบตลอดมา  และสิ่งสำคัญที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างสังคมไทยในอดีตและสังคมของตะวันตก  คือการแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อกัน ในอดีตผู้คนในชุมชนตำบลหมู่บ้านของเราจะพบเห็นทั่วไปว่าจะมีการช่วยเหลือเจือจานแบ่งกันกินแบ่งกันใช้แบบพี่แบบน้อง  คนที่แข็งแรงและมีโอกาสมากกว่าจะช่วยเหลือดูแลผู้ที่อ่อนแอและด้อยโอกาสกว่า  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งนี้คือจุดแข็งสำคัญที่ทำให้คนไทยในอดีตแตกต่างอย่างมากจากคนในสังคมตะวันตก  การแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรผู้ด้อยโอกาสหรืออ่อนแอกว่าของผู้คนในอดีต  จะพบว่าผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นมิได้มุ่งหวังอะไรเป็นการตอบแทน  นอกจากสิ่งที่เชื่อกันตามหลักในพุทธศาสนาของเราว่าเป็น “บุญ”    การแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรในอดีตจึงเป็นการกระทำให้แก่กันด้วยความจริงใจ  ซึ่งแตกต่างจากในปัจจุบันที่หากช่วยเหลือแก่ใครมักจะหวังสิ่งผลตอบแทนด้วยเสมอ  และบางครั้งยังต้องการสิ่งตอบแทนที่มากกว่าการให้เสียอีกก็มี (ค้ากำไรเกินควร)  ผู้เขียนเชื่อว่าการช่วยเหลืออย่างจริงใจดังกล่าวคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้คนของสังคมไทยในอดีตมีความรักใคร่สมัครสมานสามัคคีกันอย่างแท้จริง 
             จึงเห็นได้ว่าในอดีตการแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งให้แก่กันของผู้คนในสังคม จะเป็นการช่วยเหลือเอื้ออาทรกันด้วยความจริงใจ  ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าสิ่งนี้คือทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างมากของสังคมไทยในอดีต  และผู้เขียนขอเรียกทุนทางวัฒนธรรมของสังคมไทยในอดีตนี้ว่า  "วัฒนธรรมการแบ่งบัน" (ด้วยความจริงใจ)  วัฒนธรรมการแบ่งบัน(ด้วยความจริงใจ)นี้ทำให้ผู้คนในสังคมทุกระดับ ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน  ในอำเภอ  ในจังหวัด  ในประเทศ มีความรักใคร่สามัคคีกันอย่างแท้จริง เพราะไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ทำให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของผู้คนในสังคม ทำให้ผู้คนในสังคมอยู่ร่วมด้วยกันด้วยความสงบสุข  ซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธว่าความสามัคคีจะทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ในอดีตแม้หมู่บ้านต่างๆจะไม่มีถนนคอนกรีต ประปา ไฟฟ้า ดังเช่นปัจจุบัน แต่ผู้คนก็มีความสุขกว่าปัจจุบัน   วัฒนธรรมการแบ่งบัน(ด้วยความจริงใจ)จึงเป็นทุนทางวัฒนธรรมและเป็นระบบสร้างสมดุลอย่างแท้จริงให้แก่สังคมของเรา  เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดความรักความสามัคคี และความสุขสงบ แก่ผู้คนในสังคมไทยในอดีตตลอดมา  
             แต่หากเรากลับมาพิจารณาสังคมไทยในยุคนี้พ.ศ.นี้ก็จะพบว่า ปัจจุบันผู้คนในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน อำเภอ ในจังหวัด และประเทศของเราขาดความสามัคคีอย่างมาก  เกิดการแตกแยกของผู้คนไปทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งหากจะวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุจริงๆแล้วก็จะพบว่า  สาเหตุอันเป็นรากเหง้าที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้เป็นเพราะการ “เห็นแก่ตัว”  ผู้คนในสังคมปัจจุบันมีการเห็นแก่ตัวมากขึ้น ตัวใครตัวมันมากขึ้น แก่งแย่งชิงดีกันมากขึ้น มีการแบ่งปั่นกันน้อยลง ใช่หรือไม?   ดังนั้นหากมองในมิติทางวัฒนธรรมแล้วจะพบว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยในปัจจุบันแตกแยกอย่างรุนแรง  เป็นเพราะในปัจจุบันวัฒนธรรมการแบ่งบัน (ด้วยความจริงใจ)  ซึ่งเป็นจุดแข็งทางวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยได้ศูนย์หายไป  ซึ่งวัฒนธรรมที่หายไปส่งผลทำให้ระบบความสมดุลที่มีอยู่เดิมในสังคมไทยศูนย์เสียไปด้วย   และสิ่งใหม่ที่มาแทนวัฒนธรรมดีงามดั้งเดิมก็คือ “การแย่งชิง” ซึ่งใครจะเรียกการแย่งชิงว่าเป็นวัฒนธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นวัฒนธรรม และขอเรียกมันว่า วัฒนธรรมการแย่งชิง  ซึ่งวัฒนธรรมการแย่งชิงที่เกิดขึ้นใหม่จะทำให้ระบบสังคมเสียสมดุล เพราะเมื่อแย่งชิงก็ทำให้คนที่แข็งแรงกว่ามีโอกาสมากกว่า (รวมถึงขี้โกงกว่า)  สามารถกอบโกยทรัพยากรต่างๆของสังคมจนเกิดการกระจุกตัวอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ระบบสมดุลที่เคยมีอยู่ในสังคมไทยค่อยๆศูนย์เสียไปเป็นลำดับ  และสิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นๆเป็นลำดับของผู้คนในสังคม 
             ดังนั้นเหตุผลที่ทำให้ระบบสมดุลของสังคมเสียไปจึงเกิดขึ้นก็เพราะ วัฒนธรรมการแบ่งบัน (ด้วยความจริงใจ)  ในอดีตได้ศูนย์หายไป  อันเป็นผลที่สืบเนื่องมาจากสังคมไทยถูกครอบงำและถูกจู่โจมอย่างรุนแรงจากกระแสของปรัชญาแบบทุนนิยมแบบไร้ภูมิคุ้มกัน  ซึ่งปรัชญาของตะวันตกเป็นปรัชญา “ทุนนิยม”  มีหลักการที่ให้ความสำคัญไปยังปัจเจกบุคลหรือที่เรียกกันว่า “ปัจเจกชนนิยม”  ปรัชญานี้มีพื้นฐานความเชื่อว่า “ผู้ชนะเท่านั้น จึงจะสามารถอยู่รอดและเป็นที่ยอมรับในสังคม”  ดังนั้นปรัชญากลุ่มนี้จึงทำให้เกิดการกระทำแบบ มือใครยาวสาวได้สาวเอา ปรัชญากลุ่มนี้  จะมีค่านิยมด้านวัตถุเป็นหลัก  จึงทำให้เกิดมนุษย์แบบ “บริโภคนิยม” และ “วัตถุนิยม”  มนุษย์ในโลกทุนนิยมจะให้ความสำคัญทางจิตน้อย    จึงทำให้มนุษย์แบบทุนนิยม  เห็นแก่ตัว  ใช้ชีวิตแบบสุดโต่ง  การที่เราถูกครอบงำและจู่โจมด้วยปรัชญาแบบทุนนิยมแบบไร้ภูมิคุ้มกัน  จึงทำให้เกิดสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็น “วัฒนธรรมใหม่ในสังคมไทย”  คือ วัฒนธรรมการแย่งชิง” เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการแบ่งบัน (ด้วยความจริงใจ) ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรมอันดีงามของเรา  วัฒนธรรมการแย่งชิงที่เข้ามาจะเป็นการแย่งชิงกันทุกเรื่อง  “แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา” หรือ “กอบโกย”  ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความขัดแย้งในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ  การเมือง และสังคม ฯลฯ (แย่งชิงเรื่องอะไรก็ขัดแย้งในเรื่องนั้น) ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวย่อมทำให้เกิดการแตกความความสามัคคีในทุกระดับดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
             และในฐานะที่ผู้เขียนพอจะมีความรู้ในศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรมอยู่บ้าง จึงได้พยายามคิดหาแนวทางที่จะฟื้นฟู วัฒนธรรมการแบ่งบัน” (ด้วยความจริงใจ) ให้กลับคืนมา  แม้จะอยู่ท่ามกลางกระแสของทุนนิยมอันเชี่ยวกรากในปัจจุบันก็ตาม  ซึ่งหนึ่งในหลายแนวทางที่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมดังกล่าวให้กลับคืนมา คือการ  กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน  คำว่า “กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน” เป็นภาษาโคราช หมายถึงการกินข้าวเย็นร่วมกันและนั่งจับเข่าคุยกัน  โดยมีวิธีการง่ายๆ คือ ผู้คนในแต่ละหมู่บ้านควรนำข้าวปลาอาหารมากินด้วยกันแบบพี่แบบน้องแล้วพูดคุยกันดังเช่นในอดีตอย่างน้อยเดือนละครั้ง  ผู้เขียนคิดว่าหากมีการทำอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้ระบบสมดุลของสังคมไทยที่ศูนย์เสียไปกลับคืนมา  เพราะเมื่อผู้คนเริ่มมีการแบ่งปันอาหารและพูดคุยกันทุกเดือน  ก็จะทำให้ผู้คนมีความเข้าใจกันมากขึ้น มีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น มีความเห็นแก่ตัวน้อยลงและทำให้ผู้คน “รู้จักพอ” มากขึ้น  การรู้จักพอจะทำให้ผู้คนคิดถึงผู้อื่นและทำเพื่อผู้อื่นและมีการแบ่งปันกันมากขึ้น  ซึ่งหมายถึงวัฒนธรรมการแบ่งปัน (ด้วยความจริงใจ)  อันเป็นจุดแข็งหรือทุนทางวัฒนธรรมที่ดีงามของเรา  ได้ฟื้นกลับคืนมามีบทบาทในการกำหนดพฤติกรรมของผู้คนในสังคมอีกครั้ง  ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อว่าการ “กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน” เป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูวัฒนธรรมที่ดีงามในอดีตให้กลับคืนมา  และผู้เขียนเห็นว่าการ “กินเข่าค่ำจับเข่าคุยกัน”  ยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา  ที่มีความต้องการให้ผู้คนในสังคมประเทศไทยมีความเข้มแข็งสามารถพึงตนเองได้ และรู้จักคำว่า “พอเพียง”  มีการช่วยเหลือเอื้ออาทรแก่กันเช่นเดิม  ซึ่งการรู้จักแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรแก่กันจะส่งผลให้สังคมมีความรักใคร่ความสามัคคี  เป็นสังคมที่มีความสงบสุขและเข้มแข็งยั่งยืนอย่างแท้จริงดังเช่นในอดีตนั่นเอง
"ความสามารถพึ่งตนเองโดยยึดมั่นในหลักแห่งคุณธรรม
คือความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนที่แท้จริงของสังคม"

ดร.บุญช่วย  พาณิชย์กุล
๖ มกราคม ๒๕๕๖