วิถีชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านของสังคมไทยในอดีต เป็นวิถีแห่งความสุขสงบชุมชนประกอบกันขึ้นด้วยจุดแข็งของความเป็นญาติมิตร โดยจะมีการเรียกขานกันว่าพี่ น้อง ลุงป้า น้าอา กันทั้งหมู่บ้าน ผู้คนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันอย่างจริงใจ ในหมู่บ้านทุกคนจะช่วยกันเพาะบ่มมิตรไมตรีต่อกันในแต่ละครอบครัวให้เป็นไปโดยราบรื่นไม่ขาดสายในแต่ละรุ่น วิถีการผลิตของผู้คนในหมู่บ้านมีวิถีการผลิตในลักษณะพึ่งตนเอง ไม่เบียดบังทำลายล้างธรรมชาติ ผู้คนยึดมั่นในขนบธรรมเนียมและสืบทอดประเพณีด้วยจิตวิญญาณ บางแห่งที่มีงานศิลปะและภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของตน ก็จะมีความภาคภูมิใจหวงแหนช่วยกันรักษากันทั้งหมู่บ้าน งานส่วนรวมของหมู่บ้านในทุกเรื่องจะช่วยกันทำอย่างเต็มกำลังและมีความสุขที่ได้ทำ ผู้คนในสังคมจึงมีความรักและเอื้ออาธรต่อกัน เกิดเป็นความสามัคคีกลายเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ทำให้ผู้คนในหมู่บ้านสามารถต่อสู้กับทุกวิกฤตทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน แม้จะเป็นวิกฤตและปัญหาที่รุนแรงก็สามารถแก้ไขได้โดยง่ายตลอดมา นี่คือความเข้มแข็งของวัฒนธรรมที่ทำผู้คนในหมู่บ้านของสังคมไทย รวมถึงประเทศไทยของเราสามารถรอดอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ สอดคล้องกับ ท่านอาจารย์ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ที่ได้กล่าวว่า “วิถีแห่งหมู่บ้านของสังคมไทยให้ความสำคัญกับความเป็นชุมชน ความเป็นญาติมิตร ช่วยเหลือเกื้อกูล วิถีแห่งหมู่บ้านครึ่งหนึ่งเกิดจากผู้คนในหมู่บ้านรวมกันเพาะบ่ม อย่างราบรื่น เป็นเสาหลักของชุมชน เป็นหมู่บ้านที่มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นวิถีการผลิตที่เป็นไปเพื่อการพึ่งตนเอง และเอื้อต่อธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่งดงาม แฝงไว้ด้วยภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น และมีเอกลักษณ์เฉพาะตลอดจนความเชื่อที่เต็มไปด้วยอุบายให้ผู้คนมีความรักต่อกันและเอื้อต่อธรรมชาติรอบๆ ตัว สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมชุมชน ที่ผู้คนในท้องถิ่นร่วมกันสร้างด้วยความสมัครใจจนทำให้อยู่ดีมีสุข” (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, 2547 : 13)
           แต่พบว่าในปัจจุบันผู้คนในทุกภาคของประเทศ หรือแม้แต่ในชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ในชนบทก็ขาดน้ำใจมากขึ้น มีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แบ่งก๊กแบ่งเหล่า ให้ร้ายป้ายสีกันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมเดิมไปอย่างไม่เหลือเค้าโครงเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของผู้คน โดยเฉพาะผู้คนในชุมชน ตำบล หมู่บ้านซึ่งเป็นฐานรากและเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ซึ่งในที่สุดจะเกิดผลเชิงลบแก่ผู้คนในสังคมประเทศไทยโดยรวมทั้งหมด ผู้คนในสังคมทั้งประเทศจะต่างคนต่างอยู่มีความหวาดระแวงต่อกันมากขึ้น ไม่ร่วมมือไม่ช่วยเหลือกันในการแก้วิกฤตหรือแก้ปัญหาที่ร้ายแรงแม้เป็นปัญหาของส่วนรวม ท้ายที่สุดผลของวิกฤตหรือปัญหาดังกล่าวก็รุกลามรุนแรงมากขึ้นๆจนยากจะแก้ไข ผู้คนในสังคมจะได้รับผลกระทบได้รับความเดือดร้อนกันทั่วไป สังคมจะกลายเป็นสังคมที่ล่มสลายซึ่งผู้คนไม่อยากอยู่อยากหนีไปให้พ้นจากสังคมนั้น
          ดังนั้นทางรอดอยู่ของประเทศไทยขณะนี้จึงต้องเร่งเยียวยารักษาบาดแผลการแตกแยกของผู้คนในสังคมอย่างเร่งด่วน ซึ่งการแก้ปัญหาความแตกแยกของผู้คนในสังคมครั้งนี้ จะต้องวิเคราะห์ให้เห็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในทุกด้าน แล้วค่อยๆ ขจัดทุกสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาโดยเฉพาะสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทั้งปวง ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการแก้ปัญหาของสังคม จะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ราเหง้าแห่งสาเหตุของปัญหา โดยต้องมองลึกลงไปยังจิตวิญญาณหรือจิตใจของผู้คนในสังคม ว่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้คนในสังคมมีความคิดความเชื่อและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ซึ่งซึ่งการแก้ปัญหาที่มองลึกลงไปยังจิตวิญญาณของผู้คน ผู้เขียนเรียกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรมนั่นเอง ข้อสำคัญรัฐบาลจะต้องประสานทุกฝ่ายให้เข้ามาช่วยกัน ต้องทำให้ทุกฝ่ายตะหนักเห็นความสำคัญของปัญหา และเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูจุดแข็งของวัฒนธรรมเดิมของเรา คือ ความเป็นญาติมิตร การช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันอย่างจริงใจ โดยเฉพาะวัฒนธรรมชุมชนจะต้องเฝ้าระวังไม่ให้วัฒนธรรมเชิงลบเข้ามากลืนกลายวัฒนธรรมเดิมที่ดีงามของเราไป และในชุมชนบางแห่งที่วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องอย่างรุนแรง รัฐจะต้องให้ความสำคัญที่จะเข้ามาฟื้นฟูเป็นพิเศษ เพราะวัฒนธรรมชุมชนเป็นเสมือนรากฐานหรือเซลล์ของวัฒนธรรมใหญ่ของสังคมไทยทั้งประเทศ หากว่าแม้แต่วัฒนธรรมของชุมชนยังเปลี่ยนแปลงไปจนไม่เหลือกอะไรที่เป็นเอกลักษณ์ ก็จะไม่เหลือพื้นที่ใดไว้เป็นแบบอย่างให้เห็นว่าคนไทยเคยมีวัฒนธรรมวัฒนธรรมที่ดีงาม ผู้คนมีความเป็นญาติมิตรช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างจริงใจอีกแล้ว จึงจะทำให้วิถีแห่งความสุขสงบของผู้คนในสังคมกลับคืนมา ประเทศไทยจึงจะเป็นสยามเมืองยิ้มและยิ้มอย่างจริงใจเช่นเดิม

ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๑ มิถุนายน ๒๕๕๓