การเลือกตั้งคือกระบวนเข้าสู่อำนาจในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นกระบวนอย่างเดียวที่ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและนักประชาธิปไตยทั่วโลกว่า ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจากการลงคะแนนเสียงของประชาชนเท่านั้นจึงจะมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจรัฐได้ เพราะนักวิชาการและนักประชาธิปไตยต่างเห็นพร้องกันว่า การเลือกตั้งเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของประชาชน เพราะการเลือกตั้งถือว่าเป็นการเลือกรูปแบบ วิธีการปกครอง เลือกนโยบาย เลือกระบบและวิธีการทางเศรษฐกิจ เลือกระบบสังคม และอาจมองไปไกลถึงเป็นการเลือกอนาคตให้แก่ประเทศชาติเลยทีเดียว จึงมีการกล่าวถึงการไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชนว่า เป็นการไปทำหน้าที่สำคัญในฐานะพลเมืองที่ดีของชาติ เพราะถือว่าการเลือกตั้งเป็นการเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของชาติบ้านเมืองนั่นเอง การเลือกตั้งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และปรากฏอย่างชัดเจนว่าการเลือกตั้งเป็นหนทางเข้าสู่อำนาจหนทางเดียวที่ได้รับการยอมรับในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่บรรดานักการเมืองมักกล่าวอ้างโดยยืมคำพูดของ อับราฮัม ลิงคอล์น มาใช้เสมอว่าเป็น การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อ ประชาชน ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจกระบวนการเดียวเท่านั้น ที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ใช้อำนาจรัฐในโลกประชาธิปไตย การเข้าสู่อำนาจรัฐโดยวิธีการอื่นแม้จะทำงานเพื่อประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้ดีเพียงใด แต่เมื่อเห็นว่าเป็นการเข้ามาตามกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของการปกครองในระบอบนี้ ผู้ที่ได้อำนาจมาโดยวิธีอื่นจึงมักมีปัญหาตามมาเสมอ


สำหรับผู้เขียนเองแล้วก็เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีเลือกตั้ง เพราะเชื่อมาโดยตลอดว่าไม่มีวิธีการเข้าสู่อำนาจใดที่มีเหตุผลในการใช้อำนาจรัฐได้ดีไปกว่าการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นวิธีการเดียวที่ให้สิทธิแก่ประชาชนสามารถเลือกผู้ปกครองของตนเอง ให้สิทธิในการเลือกตัวแทนที่จะเข้ามาบริหารเงินที่เก็บไปจากภาษีของตนเอง การเลือกตั้งเป็นวิธีการเข้าสู่อำนาจที่ประนีประนอมที่สุด เพราะใช้ความเห็นของประชาชนในตัดสินว่าใครควรเข้าสู่อำนาจ ไม่เช่นนั้นการเข้าสู่อำนาจก็จะมีแต่การใช้กำลังรบราฆ่าฟันเช่นในอดีต การเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราน่าจะได้ผู้ปกครองและผู้บริหารที่เหมาะสมและดีที่สุดนั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงเชื่อเช่นเดียวกับนักวิชาการและนักประชาธิปไตยทั้งหลายที่เห็นว่า “การเลือกตั้งเป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่ดีที่สุด”


แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานวันขึ้น ผู้เขียนเริ่มมีคำถามในใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งเข้ามามากขึ้นๆ จนเกิดคำถามล่าสุดว่า แท้จริงแล้วการเลือกตั้งซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการสรรหาผู้ปกครองและผู้บริหารในประเทศของเรา ทำให้เราได้ผู้ปกครองและผู้บริหารที่เหมาะสมเป็นคนดีมีความสามารถ เข้ามาทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติบ้านเมือง ทำให้ประชาชนมีความสงบสุขและอยู่ดีกินดีจริงๆ หรือ?


เหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามเช่นนี้ เป็นเพราะผู้เขียนได้พบข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้เขียนก็เชื่อว่าทุกท่านก็คงเห็นภาพที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงต่อไปนี้ แต่มักจะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะที่ไหนเขาก็เป็นเช่นนี้ ในเบื้องต้นอยากท่านลองคำถามตัวท่านเองดูว่า นับแต่ประชาชนคนไทยรู้จักใช้วิธีเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจในตั้งแต่ปี พ.ศ.2475เป็นต้นมา ทำไมคนไทยจึงมีความขัดแย้งขยายวงมากขึ้นๆเป็นลำดับตลอดมา ปัจจุบันอาจเรียกว่าความขัดแย้งได้กระจายไปทั่วทุกหัวระแหงหรือทั้งประเทศแล้ว ลักษณะของการแตกแยกดังที่เป็นอยู่ขณะนี้น่าตรงกับคำพูดในภาษาโคราชที่ว่า “แตกซะนะโม” ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งไม่ว่าระดับใดยิ่งเลือกตั้งยิ่งแตกแยกท่านคิดว่าใช่หรือไม่ การเลือกตั้งเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐอำนาจท้องถิ่นของบ้านเราสิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือความแตกแยกของผู้คน จนชาวบ้านพูดกันทั่วไปว่า “เดี๋ยวนี้คนในหมู่บ้านแตกซะนะโมกันหมดแล้ว” ผู้เขียนจึงรู้สึกเป็นห่วงว่าถ้าแตกมากขึ้นๆคนในบ้านเมืองนี้จะอยู่กันอย่างไร และถ้าถึงที่สุดผู้คนไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่าฟันกลายเป็นสงครามกลางเมืองไปหรอกหรือ?


นอกจากนี้ผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับตัวเองต่อไปอีกว่า ทำไมเรายิ่งเลือกตั้งได้นักการเมืองผลัดกันเข้ามาบริหารประเทศของเรานานวันขึ้น ก็จึงยิ่งเห็นคนรวยรวยขึ้นๆ เห็นช่องว่างของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งห่างออกมากขึ้นๆทุกที เป็นเรื่องน่าแปลกที่ประเทศของเรามีคนไม่กี่หยิบมือซึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองร่ำรวยระดับโลก แต่กลับเห็นคนจนกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ผลของการพัฒนาเศรษฐกิจของนักการเมืองที่ผ่านมา ช่างสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” เสียจริงๆ นอกจากนี้ผู้เขียนยังอดตั้งคำถามต่อไปอีกไม่ได้ว่า ทำไมคนรวยส่วนใหญ่จึงมักชนะเลือกตั้งและได้เป็นนักการเมือง มีคนจนน้อยมากที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง และที่น่าแปลกใจอย่างมากก็คือทำไมการเมืองจึงทำให้คนสามารถร่ำรวยขึ้นได้อย่างรวดเร็ว คนที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรเลยพอได้เป็นนักการเมืองไม่นานก็รวยขึ้นๆ และนักการเมืองที่รวยอยู่แล้วเมื่อมาเล่นการเมืองทำไมจึงร่ำรวยมากขึ้นขนาดนับเงินกันไม่ถูกเลยทีเดียว?


สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่เกิดขึ้นในใจของผู้เขียนเป็นลำดับมา จนกระทั่งผู้เขียนได้พูดคุยกับชาวบ้านในองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมาของเรานี่เอง เขาได้พูดเชิงสอบถามกับผู้เขียนว่า “ผมสงสัยจริงๆว่าทำไมคนในบ้านผมจึงเลือกนักเลงการพนันมาเป็นนายก อบต.” คำถามดังกล่าวทำให้ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาทันทีว่า กระบวนการเลือกตั้งของประเทศเราน่าจะมีอะไรที่ผิดพลาดบกพร่องจริงๆแล้ว ผลการเลือกตั้งในท้องถิ่นจึงออกมาอย่างนี้ ?


เพื่อตอบคำถามแก่ผู้ที่ถามว่าทำไมคนในบ้านผมจึงเลือกนักเลงการพนันมาเป็นนายก อบต.? ผู้เขียนได้คิดวิเคราะห์อยู่ครู่ใหญ่แล้วจึงอธิบาย โดยพยายามที่จะหาคำอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้งให้เข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายดังนี้

“ผมเห็นว่าแท้จริงแล้วการเลือกตั้งเป็นเพียงกระบวนการคัดกรองเพื่อหาคนที่เหมาะสมเข้ามาทำงานแทนประชาชนเท่านั้นเอง หรือถ้าจะเปรียบให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วขอเปรียบเทียบกับการร่อนทรายเพื่อใช้ในงานก่อสร้างในอดีต การเลือกตั้งเป็นเสมือนการร่อนทรายที่ช่างปูนในอดีตต้องร่อนเพื่อให้ได้ทรายละเอียด เพื่อจะนำไปฉาบอิฐมอญหรือซิเมนต์บล็อกที่ก่อไว้แล้ว ในการก่อสร้างแต่ละงานหัวหน้าช่างจะเป็นผู้กำหนดว่าควรใช้ทรายละเอียดเพียงใด ความละเอียดซึ่งเป็นคุณภาพของทรายจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของตะแกงที่ใช้ร่อนว่ามีความถี่ความห่างเพียงใด ตะแกงที่ใช้ร่อนจะต้องไม่รั่วเพราะจะทำให้ทรายหยาบหรือแม้แต่หินก้อนใหญ่ๆทะลุผ่านตะแกงออกไปได้ นอกจากนี้ทรายที่ออกมาจะมีคุณภาพตรงตามที่หัวหน้าช่างสั่งไว้หรือไม ยังจะขึ้นอยู่กับความชำนาญและความละเอียดของช่างผู้ร่อนสำคัญ”


เมื่อผู้เขียนพูดมาถึงตรงนี้ ชาวบ้านที่ถามทำหน้างงๆผู้เขียนจึงอธิบายเพิ่มเติมไปว่า


“ความละเอียดหรือคุณภาพของทรายจึงขึ้นอยู่กับคำสั่งของหัวหน้าช่างว่าต้องการทรายละเอียดหรือมีมาตรฐานเพียงใด นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับความรู้ความชำนาญของช่างซึ่งเป็นผู้ร่อน สิ่งสำคัญก็คือความถี่ความห่างของตะแกงที่ใช้ร่อนทราย ตะแกงจะต้องมีคุณภาพไม่ผุฉีกขาดง่ายต้องสามารถทนต่อแรงเสียทานของทราย การร่อนทรายก็เหมือนกับร่อนหรือคัดกรองให้ได้แต่ทรายละเอียดหรือคัดกรองให้ได้แต่นักการเมืองดีๆมาทำงานนั่นเอง”


เมื่อพูดมาถึงช่วงนี้ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าชาวบ้านที่สอบถามเริ่มเข้าใจมากยิ่งขึ้น ผู้เขียนจึงอธิบายเพิ่มเติมให้เห็นว่าในการร่อนทรายมีองค์ประกอบใดบ้างที่สามารถเทียบเคียงได้กับการเลือกตั้ง โดยผู้เขียนอธิบายว่า


“หากมาดูกระบวนการเลือกตั้งจะพบว่ามีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ระเบียบกฎหมาย และคณะกรรมการที่ดูแลในการเลือกตั้ง เป็นต้น ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจะมีการกำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นอย่างไร ผู้สมัครจะเทียบเคียงได้กับทรายซึ่งต้องเป็นทรายที่ใช้ก่อสร้างไม่ใช่ทรายที่ไว้ถมที่ สำหรับระเบียบกฎหมายก็มีตั้งแต่ รัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงระเบียบและคำสั่งอื่นๆที่ออกตามกันมา ระเบียบกฎหมายต่างๆที่ใช้ในการเลือกตั้งเหล่านี้ ถ้าจะเทียบเคียงแล้วผมเห็นว่าน่าจะเทียบได้กับคำสั่งของหัวหน้าช่างที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ช่างร่อนทรายให้ได้มาตรฐานตามที่ต้องการนั่นเอง และนอกจากจะมีระเบียบกฎหมายแล้วในการเลือกตั้งยังต้องมี กกต.ที่คอยดูแลและจัดการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าจะเทียบเคียงแล้วผมเห็นว่า กกต. น่าจะเทียบได้กับช่างที่คอยทำหน้าที่ร่อนทราย ช่างเหล่านี้ต้องร่อนทรายให้ได้ตามมาตรฐานที่หัวหน้ากำหนด หรือถ้าอธิบายกลับมายังการเลือกตั้งก็หมายถึง กกต.ต้องคอยดูแลให้การเลือกตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั่นเอง”


พูดมาถึงตรงนี้ชาวบ้านที่ถามก็เข้าใจมากยิ่งขึ้น และชาวบ้านที่ถามก็เริ่มมีส่วนร่วมโดยถามผู้เขียนกลับคืนว่า แล้วตะแกงที่ใช้ร่อนทรายควรจะเทียบกับอะไร? ผู้เขียนจึงเริ่มอธิบายต่อ


“เมื่อพูดถึงเลือกตั้งเรามักจะนึกถึงกันเพียงแค่คนที่ลงสมัครให้เราเลือก ระเบียบกฎหมายและคณะกรรมการเลือกตั้งเท่านั้น ดังนั้นเวลาวิเคราะห์ปัญหาของการเลือกตั้งจึงมักมุ่งไปที่ผู้สมัคร ระเบียบกฎหมายและคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเรามักลืมองค์ประกอบสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งไปคือ “ประชาชนหรือคนเลือก” การเลือกตั้งต้องมีคนเลือกหรือประชาชนผู้เลือกเป็นองค์ประกอบสำคัญ และถ้าหากเทียบกับการร่อนทรายแล้ว ผมเห็นว่าประชาชนเทียบได้กับตะแกรงร่อนทราย ที่คอยทำหน้าที่คัดกรองให้เฉพาะทรายที่ละเอียดเท่านั้นผ่านออกไปได้ ถ้าตะแกรงมีคุณภาพดีมีช่องสม่ำเสมอสามารถทนต่อแรงเสียดทานของทราย ยอมให้เฉพาะทรายละเอียดเท่านั้นที่ผ่านออกไปได้ ก็จะทำให้ได้ทรายละเอียดคุณภาพดีตามที่หัวหน้าช่างกำหนดไว้ หรือได้ผู้แทนที่ดีตามที่กฎหมายกำหนด แต่ถ้าตะแกรงมีรูรั่วแถมเป็นตะแกรงที่ไม่มีคุณภาพไม่สามารถทนแรงเสียดทาน นำมาร่อนทรายได้ไม่นานก็มีรูรั่วมากขึ้นๆ ในที่สุดทรายที่ร่อนก็มีแต่หินไม่สามารถนำไปใช้ฉาบได้ตามต้องการเท่านั้น”


พูดมาถึงตรงนี้ชาวบ้านที่ถามผู้เขียนก็เข้าใจโดยแจ่มแจ้ง จึงให้ความเห็นเพิ่มขึ้นมาทันทีว่า


“การเลือกตั้งที่ดีก็เหมือนการร่อนทราย นักการเมืองที่ลงสมัครให้เราเลือกเป็นเหมือนทราย ถ้าจะให้ได้ทรายละเอียดดีหรือได้ผู้แทนที่ดี จะต้องมีระเบียบกฎหมายหรือคำสั่งจากหัวหน้าช่างที่ดี ต้องมีกรรมการเลือกตั้งหรือช่างร่อนทรายที่ดี ข้อสำคัญคือต้องมีตะแกรงที่ดีหรือประชาชนต้องเป็นคนดีมีคุณธรรมด้วย เพราะคนแบบใดก็เลือกคนแบบนั้นเหมือน อบต.ของผม ใช่ไหมครับ”


ผู้เขียนตอบทันทีว่า ถูกต้องแล้วครับ ถูกต้องแล้วครับ แล้วสรุปตบท้ายว่า


ดังนั้น โดยแท้จริงแล้วการเลือกตั้งจึงไม่มีอะไรซับซ้อน การเลือกตั้งเปรียบเสมือนการร่อนทราย ถ้าอยากให้ได้ทรายละเอียดคุณภาพดีหรือการเลือกตั้งคุณภาพดี ก็ต้องดูที่คำสั่งของหัวหน้าช่าง หรือระเบียบกฎหมายว่ามีข้อบกพร่องหรือมีการบังคับใช้อย่างจริงจังของช่างที่ทำการร่อนทรายหรือ กกต.หรือไม่ ข้อสำคัญตะแกรงที่ใช้ร่อนทรายคือประชาชนต้องมีความละเอียดในการคัดกรอง ตะแกรงจะต้องมีคุณภาพดีทนต่อการเสียดทานของนักการเมืองที่เสมือนทรายน้อยใหญ่ ตะแกรงจะต้องยอมให้เฉพาะทรายละเอียดเท่านั้นผ่านออกไปได้ ตะแกรงต้องมีคุณภาพไม่ใช่ตะแกรงผุๆที่นับวันจะขาดและเป็นรูกว้างมากขึ้น”


พอชาวบ้านเข้าใจแล้วก็แยกย้ายไป หลังจากนั้นผู้เขียนได้กลับมาตั้งคำถามกับตนเองต่อว่า จริงๆแล้วในปัจจุบันประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ เป็นตะแกรงที่มีคุณภาพหรือเป็นเพียงตะแกรงผุๆกันแน่ ซึ่งข้อนี้ผู้เขียนยังไม่สามารถตอบได้ เพียงแต่คิดว่าถ้าจะออกแบบสอบถามเพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องนี้จะออกแบบอย่างไร และผู้เขียนได้ออกแบบสอบถามไว้5ข้อ กะว่าวันหนึ่งจะลองถามกลุ่มตัวอย่างเล่นๆ ดูดังนี้


1.ท่านคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันกลัวบาป น้อยลง เท่าเดิม หรือมากขึ้น /ให้เหตุผลประกอบด้วย

2.ท่านคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันโกหก น้อยลง เท่าเดิม หรือมากขึ้น /ให้เหตุผลประกอบด้วย

3.ท่านคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเห็นแก่ตัว น้อยลง เท่าเดิม หรือมากขึ้น /ให้เหตุผลประกอบด้วย

4.ท่านคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเห็นแก่เงิน น้อยลง เท่าเดิม หรือมากขึ้น /ให้เหตุผลประกอบด้วย

5.ท่านคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีคุณธรรม น้อยลง เท่าเดิม หรือมากขึ้น /ให้เหตุผลประกอบด้วย


คำถามที่ออกแบบไว้หากผู้เขียนได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างจริงๆแล้วจึงจะมาเล่าให้ฟังต่อ ว่าแท้จริงแล้วประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นเสมือนตะแกรงผุๆที่ไม่สามารถคัดกรองอะไรได้เลย หรือเป็นตะแกรงคุณภาพดีที่สามารถทนแรงเสียดทานของอำนาจเงินและรู้เท่าทันนักการเมือง สามารถคัดกรองจนประเทศชาติของเราได้นักการเมืองที่ดีมีคุณธรรมและคุณภาพเข้ามาบริหารบ้านเมือง แต่ในโอกาสนี้ผู้เขียนขอให้ท่านผู้อ่านช่วยตอบคำถามทั้ง5 ข้อดังกล่าวข้างต้น แล้วท่านก็ช่วยสรุปเอาเองว่าแท้จริงแล้วประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เป็นตะแกรงที่มีคุณภาพดีหรือตะแกรงผุๆ ซึ่งสิ่งที่ถามไปนั้นน่าจะสอดคล้องกับคำกล่าวของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุต ปยุตโต) ที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า “คุณภาพประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน” นั่นเอง




ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๗ ตุลาคม ๒๕๕๔