การศึกษาในแต่ละศาสตร์จะมีนักคิดนักทฤษฎี สร้างทฤษฎีต่างๆเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมตามแนวทางแห่งศาสตร์นั้นๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยในแต่ละศาสตร์จะสอนวิธีคิดและจะมีเครื่องมือที่ใช้ในการแก้ปัญหาตามวิธีการเฉพาะของศาสตร์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้แต่การบริหาร แต่ละศาสตร์แต่ละสำนักก็จะมีการศึกษาวิจัยสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ (body of knowledge) ตามแนวทางของตนเอง ทำให้แต่ละศาสตร์มีหลักการที่ใช้อธิบายและทำนายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา และผู้ที่ศึกษาองค์ความรู้ในแต่ละศาสตร์ก็จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น เพราะได้เรียนรู้แนวคิดทฤษฎีในศาสตร์นั้นมาตลอดหลักสูตร นอกจากนี้ผู้ที่ทำการศึกษาในแต่ละศาสตร์ก็จะมีการซึมซับ วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมของนักวิชาการแต่ละศาสตร์ไปในตัว ทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในศาสตร์นั้นล้วนจะยึดมั่นในองค์ความรู้ในศาสตร์ที่ได้เรียนรู้กันมาอย่างมั่นคง และเมื่อเกิดปัญหาก็จะมีวิธีคิดและจะใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตามวิธีการของศาสตร์ที่ตนได้ร่ำเรียนมา ดังเช่น ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในขณะนี้ ผู้ที่จบการศึกษาในทางกฎหมายจะเน้นในการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา โดยมักจะกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งคัด ผู้ที่จบทางด้านการเมืองการปกครองก็จะกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาในทางรัฐศาสตร์ เน้นการเจรจาต่อรองโดยจะพบจากคำพูดว่า “ถอยกันคนละก้าว” ผู้ที่จบทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็มักมองว่าไปยังการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเห็นว่าสาเหตุสำคัญของปัญหาความขัดแย้ง เกิดขึ้นจากการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรม จึงทำให้เกิดการรวยกระจุกแก่ผู้คนบางกลุ่มและเกิดการผูกขาดอำนาจ ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาในการกระจายรายได้ให้เป็นธรรม สำหรับผู้ที่จบในด้านการบริหารก็มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากการบริหารงานภาครัฐที่ล้มเหลวขาดธรรมาภิบาล จึงทำให้มีการแย่งชิงเข้าสู่อำนาจเพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองในลักษณะ “ธุรกิจทางการเมือง” จึงทำเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมตามมา ดังนั้นจึงต้องทำให้การบริหารงานภาครัฐมีธรรมาภิบาล (Good Governance) และต้องสร้างระบบการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
          จะเห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาความความขัดแย้งในสังคม จึงมีวิธีแก้ไขที่หลากหลายวิธีแล้วแต่มุมมองที่เกิดขึ้นจากวิธีคิดและเครื่องมือในการแก้ปัญหาของแต่ละศาสตร์และแต่ละสำนัก หรืออาจเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาโดยมิติของแต่ละศาสตร์ที่มองสาเหตุแห่งปัญหาในแง่มุมที่ต่างกันออกไป เช่น มิติทางด้านเศรษฐกิจ มิติทางด้านสังคม มิติทางด้านการเมือง หรือแม้แต่การบริหาร ซึ่งในกรณีดังกล่าวหากมุ่งแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ ปัญหาความขัดแย้งก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปเพราะในอีกด้านถูกละเลยไม่แก้ไข ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาจึงต้องมีการพิจารณาและแก้ไขให้ครบทุกด้าน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม
          คำถาม ทำไมจึงเชื่อว่าสามารถนำวัฒนธรรมมาแก้ปัญหาทางสังคมได้ และยังเชื่ออีกว่าวัฒนธรรมสามารถแก้ปัญหาต่างๆของสังคมได้คลอบคุมและดีกว่า ?
          คำถามเหล่านี้คงจะเป็นคำถามที่อยู่ในใจของผู้ใฝ่รู้จำนวนไม่น้อย ผู้เขียนเห็นว่าคำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนส่วนใหญ่แม้แต่นักวิชาการเองก็ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ดังเช่นท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี กล่าวว่าคนส่วนใหญ่เมื่อได้ยินคำว่า วัฒนธรรม มักหมายถึง การแสดง และพิธีการ ในวันสำคัญของชาติ หรือการร้องรำทำเพลง และศิลปะ วัตถุ เท่านั้น จึงมองไม่เห็นว่าวัฒนธรรมจะเป็นพลังในการพัฒนาได้อย่างไร
(ประเวศ วะสี.2547.วัฒนธรรมกับการพัฒนา.[Online].Available:URL:http://research.mcu.ac.th/_htmlfile/menu3/buddhistpv/002.html.)


          คำถาม แล้ววัฒนธรรมหมายถึงอะไร?

          มีผู้ให้ความหมายของคำว่าวัฒนธรรมไว้มากมาย แต่ผู้เขียนขอยกนิยามของคำว่าวัฒนธรรมมาให้เข้าใจโดยสังเขปเล็กน้อย ดังนี้
          เอ็ดเวิร์ด บี ไทเลอร์ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ส่วนทั้งหมดที่ซับซ้อนอันประกอบด้วยความรู้ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรมจรรยา กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถ และนิสัยอื่นใดที่มนุษย์ได้มาในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม”
          เลสลี่ไวท์ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “การรวมอย่างมีระเบียบของปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การกระทำ (แบบแผนพฤติกรรม) วัตถุ (เครื่องมือและสิ่งที่ทำขึ้นโดยใช้เครื่องมือ) ความคิดและความรู้สึก (ความรู้ ทัศนคติ และค่านิยม) และสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการใช้สัญลักษณ์”
          อี อดัม โฮเบล นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ผลรวมลักษณะสำคัญของพฤติกรรมที่มาจากการเรียนรู้ทั้งหมด โดยสมาชิกของสังคมเป็นผู้แสดงออกและมีส่วนรวม”
          เกอร์ฮาร์ด เลนสกี้ นิยามวัฒนธรรมว่าหมายถึง “ระบบสัญลักษณ์และทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตมนุษย์ที่ต้องอาศัยลัญลักษณ์”
          พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิพงษ์ ได้อ้างถึงคำจำกัดความที่ พาร์สันส์ ให้ไว้เกี่ยวกับคำว่า วัฒนธรรมว่าหมายถึง “วิถีทางมาตรฐานต่างๆ แห่งการมีแนวทางและการกระทำที่รวมอยู่ในสัญลักษณ์ที่มีความหมาย”
          เฉลียว บุรีภักดี นิยามคำว่าวัฒนธรรมว่าหมายถึง “วิธีในการดำเนินชีวิต หลักเกณฑ์การดำเนินชีวิต และเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุสิ่งของต่างๆ ที่นำมาใช้เพื่อการเหล่านั้นจะเป็นสิ่งของที่หามาจากธรรมชาติ หรือคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ก็ตาม” หรือ “วัฒนธรรมคือวิธีการต่างๆที่มนุษย์คิดค้นเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตน”
          พัทยา สายหู ได้ขยายความว่า ความหมายดั้งเดิมของวัฒนธรรมมาจากภาษาละตินว่า “cultur” หมายถึงการเพาะ (พืช) หรือการเลี้ยง (สัตว์) ด้วยฝีมือมนุษย์ที่เข้าไปแทรกซึมเพิ่มเติมกระบวนการธรรมชาติ เช่น agriculture, aquaculture , sericulture (จุไรรัตน์ จันท์ธำรงอ้างใน รัชนีกร เศรษโฐ , 2532 : 3-6
          จึงเห็นได้ว่า “วัฒนธรรม” หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้นนอกเหนือจากธรรมชาติ ทั้งด้านวัตถุและไม่ใช่วัตถุ อันเกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย วัฒนธรรมเป็นผลผลิตที่เกิดจากสมองอันเป็นเลิศ ความสามารถในการพูด และการมีสติหรือสมาธิที่เหนือกว่าสัตว์อื่น จึงทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้และการหล่อหลอมกล่อมเกลา วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม เกิดเป็นความรู้ และกลายเป็นภูมิปัญญาของมนุษย์ ซึ่งท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี เรียกว่าภูมิปัญญาดั้งเดิม (Traditional Knowledge) ซึ่งเกิดจากการปฏิบัติหรือวิถีชีวิตของชุมชนหรือสังคมได้มากจากประสบการณ์จริง เลือกสรร กลั่นกรอง ลองใช้และถ่ายทอดด้วยการปฏิบัติสืบต่อกันมา วัฒนธรรมเป็นปัญญาที่ผูกติดกับแดนดินถิ่นต่างๆ หรือแผ่นดิน คำว่า วัฒนธรรมคือภูมิ ปัญญา (อ่านว่า พูมิ-ปัน-ยา) จึงมีความเหมาะสม เพราะภูมิแปลว่าแผ่นดิน ภูมิปัญญาหมายถึงปัญญาที่ผูกติดอยู่กับแผ่นดิน (ประเวศ วะสี.2547.วัฒนธรรมกับการพัฒนา.อ้างแล้ว) ดังนั้นการแก้ปัญหาโดยมิติทางวัฒนธรรม จึงเป็นการนำภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มีการเลือกสรร กลั่นกรอง ลองใช้ว่าได้ผลตลอดมามาใช้ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ข้อสำคัญการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่มองลึกลงไปยัง วิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม หรือจิตใจของผู้คนในสังคมว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจึงทำให้สังคมที่เคยมีความสุขสงบเปลี่ยนเป็นสังคมที่มีแต่ความขัดแย้งเช่นปัจจุบันนี้
          หากเราพิจารณาสารพัดปัญหาของสังคมจะพบว่า ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน เกี่ยวข้องกับวิธีคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ของผู้คนในสังคมทั้งสิ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของสังคมให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ต้องมองลึกลงไปถึงจิตใจของผู้คนในสังคมที่แสดงพฤตกรรมออกมา โดยต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด ความคิด ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม ของผู้คนในสังคมไปอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ แล้วจึงค้นหาวิธีแก้ปัญหาวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างนี้เป็นการมองลึกลงไปยังรากเหง้าหรือก้นบึ้งในสาเหตุของปัญหา ซึ่งผู้เขียนเรียกวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “การแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม” การแก้ไขโดยมิติทางด้านวัฒนธรรมจะเป็นการแก้ปัญหาในทุกมิติแบบบูรณาการ เป็นวิธีการในแก้ปัญหาที่มองสาเหตุของปัญหาที่ลึกลงไปถึงจิตวิญญาณของผู้คนในสังคม ว่าผู้คนในสังคมมีวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจึงทำให้เกิดปัญหาอย่างนั้น วิธีการแก้ปัญหาโดยมิติทางด้านวัฒนธรรม สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ทุกด้านทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎหมาย การศึกษา ศาสนา การบริหาร เพราะปัญหาทุกด้านล้วนเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมเมือง สังคมชนบท คนในองค์กร ซึ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับคนปัญหาและความสำเร็จในการแก้ปัญหาจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับวัฒนธรรมของผู้คน ทั้งผู้คนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่และคนที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา ดังนั้นการแก้ไขในทุกปัญหาให้ได้ผลอย่างแท้จริงและเกิดผลอย่างยั่งยืน จะต้องมีการวิเคราะห์สาเหตุทางด้านวัฒนธรรม และหาแนวทางแก้ไขปัญหาทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงแนวทางในการแก้ปัญหา “โดยมิติทางด้านวัฒนธรรม ” นั่นเอง
          ดังนั้น ศาสตร์ทางด้านวัฒนธรรม หรือ “วัฒนธรรมศาสตร์” (Cultural Science) จึงเป็นศาสตร์ที่เป็นทางออกในการแก้ปัญหาที่หมักหมมไร้ทางออกให้แก่สังคมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการที่เรามักวนเวียนกับวิธีคิดวิธีการแก้ปัญหา ตามองค์ความรู้ในศาสตร์ของใครของมัน ในลักษณะการคิดและทำแบบแยกส่วนมาตลอดมา “วัฒนธรรมศาสตร์” เป็นศาสตร์ที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับท่านที่ใฝ่รู้ ซึ่งเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการศึกษาลักษณะองค์รวม (Holistic) เพราะท่านเหล่านั้นจะทราบดีว่า แท้จริงแล้วองค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการทางกาย ทางสังคม และทางจิตใจ องค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในแต่ละชาติพันธ์ แต่ละสังคม แต่ละองค์กร แต่ละสาขาอาชีพ ข้อสำคัญก็คือ....องค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนแต่สร้างและพัฒนาขึ้นมาจากภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้เลือกสรร กลั่นกรอง ลองใช้ และทำสืบต่อกันมา ซึ่งเรียกว่า “วัฒนธรรม” นั่นเอง
          ดังนั้น “วัฒนธรรมศาสตร์ จึงเป็นรากเหง้าขององค์ความรู้ในทุกศาสตร์”
          หรือ “องค์ความรู้ของทุกศาสตร์ ล้วนเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม”
           “วัฒนธรรมศาสตร์เป็นศาสตร์แห่งความจริง ที่ศึกษาลึกลงไปยังจิตวิญญาณของผู้คน”
          ดังเช่น ท่านอาจารย์หมอ ประเวศ วะสี ได้กล่าวความว่า “วัฒนธรรมเป็นความเป็นจริงที่มีชีวิต ถ้าการศึกษาเอาความจริงเป็นตัวตั้งการศึกษาจึงจะสัมผัสกับวัฒนธรรม”
           “การพัฒนาต้องนำมิติทางวัฒนธรรมเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ”
          ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเชิญท่านผู้ใฝ่รู้ทุกท่านมาเรียนหลักสูตรวัฒนธรรมศาสตร์(Cultural Science) ของสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคามซึ่งได้เปิดสอน ณ.ศูนย์การศึกษานครราชสีมา (อาคาร 6 ชั้น วัดสุทธิจินดา) โดยเมื่อท่านจบปริญญาโทจะได้วุฒิศิลปศาสตรมหาบัณฑิต และเมื่อจบปริญญาเอกก็จะได้วุฒิ ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต/Ph.D ข้อสำคัญคือ หากท่านเข้ามาเรียน และปฏิบัติตามกระบวนการในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง ท่านจะเป็นนักวิจัยที่สามารถทำการวิจัยทางสังคมได้ทุกเรื่อง ท่านสามารถนำไปใช้ในการสอนในระดับต่างๆหรือเป็นนักวิจัยอิสระ สามารถทำผลงานทางวิชาการในแต่ละสาขาของท่านได้อย่างแท้จริง ดังเช่นความตั้งใจของสถาบันที่ว่า “ มุ่งมั่นสร้างนักวิจัย เพื่อวิจัยและพัฒนา เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ศาสนา กฎหมาย สิ่งแวดล้อม โดยมิติทางด้านวัฒนธรรม"


ดร.บุญช่วย พาณิชย์กุล
๕ กรกฎาคม ๒๕๕๓